วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรัชญาการเมืองสมัยปัจจุบันและสมัยใหม่

ปรัชญาการเมืองสมัยปัจจุบันและสมัยใหม่

๑.การเกิดขึ้นของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่
ความเข้าใจในเรื่อง  โชคชะตา  เคยมีมาในบรรดานักปรัชญาการเมืองชาวคริสต์  เช่น  ออกัสติน  ที่เสนอไว้ใน  City  of  God  ซึ่งกล่าวถึงมนุษย์ในฐานะประชากรของนครแห่งสวรรค์และนครแห่งโลก  ซึ่งเป็นพลังของความดีและความชั่วที่ต่อสู้กันในใจมนุษย์ 
แต่มนุษย์จะดำรงชีพได้  และสัมพันธ์ต่อกันอย่างสงบสุขก็ด้วยอาศัยความเชื่อและเคารพในพระเป็นเจ้า  ด้วยศรัทธาในพระเป็นเจ้าและในอำนาจอันล้นพ้นของพระองค์ด้วยจิตใจของคริสตชน  ความคิดที่ว่า โชคชะตา คือ เทวี  ที่ผู้ชายจะเอาใจได้ก็ยอ่มต้องเปลี่ยนแปลง
ในงานเขียนของ  โบเซียส  (Boethius)  กล่าวถึง  โชคชะตา  ว่ามีสมมติฐานที่ว่า  มนุษย์จะไม่กำหนดโชคชะตานั้นไม่ได้  เทวีองค์นี้แปรสภาพเป็น อำนาจที่มืดบอด  ด้วยเหตุนี้ จึงใช้อำนาจของตนโดยไม่มีการเลือกและไม่ระมัดระวัง  มนุษย์ไม่ได้มองโชคชะตาว่าอาจเป็นมิตรของตนได้อีกต่อไป  หากมองว่าเป็นพลังที่ไร้เมตตา  สัญลักษณ์ของนางก็เปลี่ยนจากแตรรูปโคนที่ล้นไปด้วยพฤกษชาติ  ผลไม้และข้าวโพด  มาเป็นวงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลง  ซึ่งหมุนเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา  การที่เทวีองค์นี้ไม่ใส่ใจกับกิจการของมนุษย์  แต่จะอวยโชคเคราะห์ให้กับผู้คนตามอำเภอน้ำใจของนาง  ทำให้การพยายามเอาใจนาง  เพื่อให้ได้มาซึ่งโชคลาภเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป  หมายความว่า  เทวีแห่งโชคชะตาได้ทำหน้าที่ตอกย้ำถึงความไม่จีรังแน่นอนของชีวิตในทางโลก  และโน้มนำให้มนุษย์แสวงหาสวรรค์ของพระเป็นเจ้า  หากมองเช่นนี้  เทวีแห่งโชคชะตาก็เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความเมตตาของพระเป็นเจ้า  เพราะพระองค์ทรงใช้เทวีองค์นี้  เพื่อชี้ให้มนุษย์เห็นว่าความสุขนั้นมิได้มาจากสรรพสิ่งในทางโลก  และทำให้มนุษย์ดูแคลนเรื่องโลก 
โบเซียส  สรุปว่า  ทั้งหมดนี้  พระเป็นเจ้าทรงมุ่งจะชี้ให้มนุษย์เห็นว่า  ความอุดมเพียงพอนั้น  มิได้มาจากความมั่งคั่ง  หรืออำนาจจากความเป็นราชา  หรือความนับถือเคารพที่มากับตำแน่งหน้าที่    หรือชื่อเสียงจากความรุ่งเรือง      ความคิดเช่นนี้สอดคล้องกับระบบคุณธรรมแบบคริสเตียนได้อย่างดี  เพราะสอนให้คนถ่อมตน  มีศรัทธา  และสมถะ  ซึ่งนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  แมคเคียเวลลี  ตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นคุณต่อสังคมการเมืองหรือไม่  อย่างไรก็ตาม  อาจกล่าวได้ว่า  ทรรศนะดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ในทางความคิดในรูปของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ นั่นเอง

๒.ชีวประวัติและงานของ  แมคเคียเวลลี
แมคเคียเวลลี (Machiavelli)   มีชื่อเต็มว่า  นิคโคโล  ดี แบร์นาโด  แมคเคียเวลลี  (Niccolo  di  Bernardo  Machiavelli)  เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์  บิดาเป็นนักกฎหมาย  มารดาเป็นกวีทางศาสนา  เขาได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์    ในปี  ค.ศ.๑๔๙๘  แมคเคียเวลลี  ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเสนาบดี  ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในและภายนอกของนครฟลอเรนซ์  ซึ่งรวมไปถึงการสงครามและการป้องกันนครด้วย  และยังมีส่วนช่วยสาธารณรัฐฟลอเรนส์ให้มีเสถียรภาพ  ทั้ง ๆ ที่  การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้อยู่ในตำแหน่งราชการเวลานั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่ง  แต่แมคเคียเวลลีก็ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาทุกปี
ในปี ค.ศ.๑๕๐๒  ซอเดอรินี (Soderini)  ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในฟลอเรนส์  แมคเคียเวลลี  เสนอให้ฟลอเรนส์ใช้กองทหารแห่งชาติแทนกองทหารรับจ้าง  เมื่อกองทหารแห่งชาติประสบชัยชนะในสงคราม  เมื่อปี ค.ศ.๑๕๐๙  ชื่อเสียงของแมคเคียเวลลีก็ยิ่งขจรขจายไปไกล  ในปี  ค.ศ.๑๕๑๒  รัฐบาลของซอเดอรินี  ถูกโค่นล้มโดยตระกูลเมดิซี  มีผลทำให้แมคเคียเวลลีถูกปลดจากทุกตำแหน่งไปด้วย
แมคเคียเวลลี ต้องออกไปใช้ชีวิตในชนบทนอกเมืองฟลอเรนส์  เป็นชีวิตที่ขมขื่น  มีแต่ความคับแค้นทางเศรษฐกิจ  และในช่วงนี้เองที่แมคเคียเวลลีหันไปจับงานเขียนหนังสือ  ด้วยหวังว่างานของเขาจะเป็นที่ยอมรับ  และจะได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง  ในท่ามกลางอารมณ์เช่นว่านี้  แมคเคียเวลลี ได้เขียนงานชิ้นสำคัญ  คือ  The  Prince  Mandragola  เป็นต้น  แมคเคียเวลลี ไม่ประสบความสำเร็จในการกลับเข้ารับราชการใหม่  โดยถึงแก่กรรม ในปี ค.ศ.๑๕๒๗

๓.คำสอนของแมคเคียเวลี
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของแมคเคียเวลลี  จากผลกระทบจากการเมืองในฟลอเรนส์  แมคเคียเวลลีบ่นอย่างขมขื่นถึงชีวิตของเขา  ซึ่งถูกกำหนดโดยอำนาจของโชคชะตา  ซึ่งเป็นอำนาจจากภายนอก  สำหรับนักศึกษาการเมืองที่รักชีวิตทางสังคมและขื่นขมกับความแปรผันของการเมือง  ชีวิตที่ถูกการเมืองบังคับให้จำกัดตนเองอยู่กับโรงนา  สนทนาแต่กับชาวนาโง่เขลา  คงเป็นสิ่งที่แมคเคียเวลลีทนไม่ได้  แมคเคียเวลลี ช่วยตนเองไม่ได้เพราะโชคชะตารังแก  ความรู้สึกที่ว่าตนเองและชาติบ้านเมืองของตนเอง  ล้วนไร้พลังอำนาจที่จะกำหนดชะตากรรมเอาเองได้  หากต้องขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก  ทำให้แมคเคียเวลลีพยายามหาวิธีที่จะเอาชนะโชคชะตาและสลัดตนรวมทั้งชาติของตนให้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนของโชคชะตา  เขาได้พยายามเสนอความคิดดังกล่าวไว้ในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ทรงความสำคัญยิ่งในทางปรัชญาการเมือง  และถือกันทั่วไปว่า  เป็นหลักสำคัญของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่  คือ หนังสือเรื่อง เจ้า  (The  Prince)
ใน  เจ้า  นั้น  แมคเคียเวลลี กำหนดคำสอนสั้น ๆ ชัดเจนมาก  คำสอนเหล่านี้ดูจะทำให้ชาวโลกต้องตระหนัก  เพราะการนำความจริงที่ทุกคนรู้ดีอยู่กับใจมาพูดในที่แจ้ง  เขาสอนผู้ปกครองที่หวังจะครองอำนาจให้ยืนยาวว่าจะต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนไม่ดี  ผู้ปกครองที่รอบคอบไม่ควรเชื่อมั่นศรัทธากับสิ่งใด  เมื่อเหตุผลที่ทำให้เขาศรัทธาเชื่อถือกับสิ่งนั้นตกไปแล้ว  ผู้ปกครองควรทำลายชีวิตศัตรูมากกว่ายึดทรัพย์  เพราะคนที่ตายแล้วแก้แค้นไม่ได้
จะเห็นได้ว่า  การจะเข้าใจแก่นแท้แห่งคำสอนของแมคเคียเวลลี  จำต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของแนวคิด  ๓  ประการ  คือ  โชคชะตา  (Fortune)  คุณธรรมความสามารถ  (Virtu)  และความจำเป็น  (Necessita)

๓.๑.การต่อสู้ระหว่างโชคชะตากับคุณธรรมความสามารถของมนุษย์
จากอิทธิพลเดิมที่แมคเคียเวลลีได้รับมาจากพวกมานุษยนิยม  และนักคิดโรมันอดีต  แมคเคียเวลลี จึงมองเทวีแห่งโชคชะตาอย่างประหลาด 

          “ข้าพเจ้าทราบว่าคนจำนวนมากมีความเห็นว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ถูกควบคุมด้วยโชคชะตา  และโดยพระเป็นเจ้า  จนกระทั่งความรอบคอบของมนุษย์ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้  แท้จริงแล้ว  มนุษย์มิได้มีอิทธิพลใด ๆ อยู่เลย”
          “อาจจะจริงที่โชคชะตาเป็นผู้ตัดสินครึ่งหนึ่งของสิ่งที่เรากระทำ  เหลืออีกครึ่งหนึ่งหรือประมาณนั้นไว้ให้เราควบคุมตนเอง”

ดังนั้น  สิ่งที่แมคเคียเวลลี  เสนอก็คือ  การต่อสู้กับโชคชะตานั่นเอง  โดยชี้ให้เห็นว่า  มนุษย์อาจเอาชนะโชคชะตาได้  ถ้ามนุษย์มีพลังหรือความกล้าหาญเหนือกว่า  แม้เขาจะเคยเปรียบเทวีแห่งโชคชะตาว่า ทรงอำนาจประดุจกระแสแม่น้ำที่เชี่ยวกราก  แต่แมคเคียเวลลีก็มิได้เสนอให้มนุษย์ยอมแพ้ต่อโชคชะตา  ยิ่งกว่านั้น  หากการเปรียบเทียบโชคชะตาเป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราก  จะทำให้ต่อสู้ด้วยความยากลำบาก แมคเคียเวลลี ก็เปรียบเทวีแห่งโชคชะตาไว้ในบทที่ ๒๕ ของ “เจ้า” ว่า มนุษย์จะประสบความสำเร็จ หากกระทำการสอดคล้องกับโชคชะตา  แต่จะล้มเหลวหากทำการขัดกับโชคชะตา  แต่มนุษย์ก็ไม่ควรลืมว่า โชคชะตาเปรียบเสมือนผู้หญิง และหากจะทำให้นางยอมศิโรราบ ก็จำเป็นต้องทุบตีและขู่บังคับหล่อน
การจะเอาชัยต่อโชคชะตาได้  จักต้องรู้จักโชคชะตา  เจ้าผู้ประสบความสำเร็จจะต้องมีทั้งความรู้นี้และความสามารถที่จะบังคับพระนางได้ด้วย กล่าวอีกหนึ่งคือ “เจ้า” ผู้นั้นจะต้องมีคุณธรรมความสามารถ (virtu)
โชคชะตานั้นแปรเปลี่ยนได้ดุจสายน้ำหรืออิสตรี  ดังนั้น  มนุษย์จึงควรเปลี่ยนแปลงตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 

“ข้าพเจ้าคิดอยู่บ่อย ๆ ว่า  ที่บางครั้งคนเราโชคดี  บางทีก็มีเคราะห์นั้น  เป็นเพราะพฤติกรรมของคนสอดคล้องกับกาลเทศะหรือไม่”

สาเหตุแห่งหายนะของเจ้าผู้ปกครองนั้น   มิได้อยู่ที่โชคชะตา หากเป็นที่ผู้ปกครองนั้นเองไม่เข้าใจถึงความแปรเปลี่ยนของภาวะแวดล้อมเหล่านี้  และไม่สามารถปรับตนให้สอดคล้องกับมันได้  ด้วยเหตุนี้  จึงกลายเป็นว่าโชคชะตาเปลี่ยนแปลงเพราะเทวีแห่งโชคชะตาได้เปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมของคนเสีย  แต่ตนเองสิไม่ยอมปรับวิถีทางของตน 
กล่าวอย่างสั้นๆ virtu   ก็คือ ความสามารถของมนุษย์ที่จะเข้าใจธรรมชาติอันแปรเปลี่ยนของภาวะแวดล้อม และปรับตนให้สอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้  หากกระทำได้สำเร็จโชคชะตาก็จะพ่ายแพ้แก่มนุษย์ ผู้ปกครองจำต้องปรับตนให้กับสภาพแวดล้อม การปรับตนเองเกิดขึ้นเพราะความจำเป็น  (Necessita)

๓.๒.ความสำคัญของความจำเป็น
ความเข้าใจใน “สิ่งที่เป็นอยู่”  ทำให้แมคเคียเวลลี มองเห็นผู้ปกครองแบบใหม่  นั่นคือ  “เจ้า” ผู้ปกครองที่สามารถเข้าใจโลกอย่างที่เป็นอยู่จริง  และประพฤติตนให้สอดคล้องกับโลกได้  ความจำเป็น มักจะเป็นเงื่อนไขกำหนดการกระทำของเจ้าผู้ปกครอง 
         
“ดังนั้น  เจ้าผู้ปกครองจึงจะต้องถูกบังคับให้รู้จักที่จะกระทำเยี่ยงสัตว์ป่า  ...ด้วยเหตุนี้  ผู้ปกครองจึงจะต้องเป็นสุนัขจิ้งจอกเพื่อจะได้เลี่ยงกับดัก  และต้องเป็นสิงโตเพื่อขับไล่สุนัขป่า”
“ผู้ปกครองมักจะถูกบีบให้กระทำการอันขัดต่อศรัทธาอันดี  ความใจบุญ  ความกรุณา  และศาสนาเพื่อจะรักษารัฐเอาไว้  ดังนั้น  เขาจึงควรจะยืดหยุ่นในการปฏิบัติไว้  โน้มเอียงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับโชคชะตาและสภาวะแวดล้อม  ก็อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้น  ผู้ปกครองไม่ควรจะเลี่ยงจากการกระทำดีหากเป็นไปได้  แต่เขาก็จะต้องรู้วิธีทำความชั่วร้ายหากจำเป็น”

เราแยกพิจารณาความจำเป็นต่างหาก  เพราะความจำเป็นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชักนำให้ผู้ปกครองกระทำการต่าง ๆ จากจุดนี้ ผู้ปกครองก็จะกระทำการต่าง ๆ อย่างเข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่จริง  กล่าวง่าย ๆ ก็คือ  เจ้าผู้ปกครองจะต้องรู้สถานการณ์และปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับมัน  ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจึงอาจเอาชนะโชคชะตาได้
ความจำเป็น ชักนำให้ผู้ปกครองต้องทำอะไรบางอย่าง  มนุษย์นั้นควบคุมการกระทำต่าง ๆ ของตนได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งแล้ว  ที่เหลืออยู่ใต้อำนาจของโชคชะตา  แต่ผู้ปกครองที่เชื่อ แมคเคียเวลลี ก็จะไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา  เขาจะต้องเอาชนะเทวีองค์นี้ด้วยคุณธรรมความสามารถ  ซึ่งก็คือ  ความเข้าใจในโลกและภาวะแวดล้อมกับความสามารถของเขา  ในการปรับตนโอนอ่อนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะโชคชะตา 
แมคเคียเวลลี  สอนว่า ผู้ปกครองไม่จำต้องรักษาคำพูดของตน  เพราะถ้าผู้ปกครองเป็นคนดีมีเมตตา  เขาก็จะถูกทำลาย  แมคเคียเวลลี กำลังเขียนถึงผู้ปกครองในชีวิตจริงที่จะต้องมีชีวิตอยู่  และกระทำการให้สัมฤทธิ์ผล  ดังนั้น  ผู้ปกครองจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดและทำงานให้สำเร็จ  สำหรับ “เจ้า”  การรวมอิตาลีเป็นเป้าหมายหลัก  ผู้ปกครองจักต้องทำทุกสิ่งเพื่อให้เป้าหมายนี้กลายเป็นจริง
๓.๓. “เจ้า”  หนังสือที่เปลี่ยนโลก
          คำว่า “แมคเคียเวลเลียน”  (Machiavellian)  กลายเป็นคำที่มีความหมายถึงอะไรบางอย่างที่ชั่วช้าสามานย์  เปี่ยมเล่ห์เพทุบาย  โหดร้าย  และเลวทราม  นิคโคโล  แมคเคียเวลลี  (Niccolo  Machiavelli) กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจ้าเล่ห์เจ้ากล  ไร้ศีลธรรม  หน้าไหว้หลังหลอก  ไม่มีหลักการอะไร  โดยเสนอปรัชญาที่ว่าจะใช้วิธีการใดให้บรรลุเป้าหมายก็ได้ทั้งนั้น  ความเข้าใจของโลกต่อคำสอนของ แมคเคียเวลลี เช่นนี้  ทำให้อิทธิพลของเขามีโดยตรงต่อแวดวงทางวิชาการ  และดูราวกับว่าพฤติกรรมทางการเมืองของรัฐบุรุษและผู้นำทางการเมืองในประวัติศาสตร์เป็นอันมาก
          ว่ากันว่า คำสอนของแมคเคียเวลลีนั้น  เป็นปริศนาที่ยากจะคลี่คลายได้  โครเช (Groce  กล่าวว่า  คำสอนของแมคเคียเวลลีนั้น  บางทีจะเป็นปริศนาที่จะไม่มีวันแก้ให้ตกไปได้   สำหรับ สปิโนซา  (Spinoza)  รุสโซ  (Rousseau) และ ฟอสโคโล  (Foscolo)  หนังสือเรื่อง “เจ้า”  เป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ และแมคเคียเวลลีเอง  ก็เป็นคนรักชาติ  นักประชาธิปัตย์  และผู้ศรัทธาในเสรีภาพ    ส่วน ฮิราม  เหย์ดน  (Hiram  Haydn)  หนังสือของแมคเคียเวลลี เป็นหนังสือต่อต้านศาสนาคริสต์  โจมตีคริสตจักรและหลักการของคริสต์ศาสนาทุกอย่าง  ส่วน คาสสิเร่และเบอร์นแฮม  (Cassirer  and  Burnham)  แมคเคียเวลลี เป็นนักเทคนิคเลือดเย็น  ไม่มีจุดยืนและค่านิยมทางการเมืองและจริยธรรม  เป็นนักวิเคราะห์การเมืองที่ปราศจากอคติและเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นกลาง  ปลอดจากค่านิยม  สำหรับ เฮเกล  (Hegel)  กลับมองว่า  แมคเคียเวลลี คือ อัจฉริยะผู้พยายามสร้างเอกภาพจากรัฐเล็กรัฐน้อยให้รวมกันเป็นอาณาจักรที่สมบูรณ์  ส่วน ฟรานซิส  เบคอน  (Francis  Bacon)  เห็นว่า  แมคเคียเวลลี เป็นนักประจักษ์นิยมผู้หลีกเลี่ยงจินตภาพแบบยูโทเปีย  ขณะที่ เองเกลส์  (Engels)  บอกว่า  แมคเคียเวลลี เป็น “ยักษ์ใหญ่” ท่านหนึ่งแห่งยุครู้แจ้ง
แต่มีทรรศนะหนี่งที่แพร่หลายมากที่สุด  คือ  ความเข้าใจ แมคเคียเวลลี ว่าเป็นปีศาจ หรือครูแห่งความชั่วร้าย  หุ้นส่วนของผีนรกในการก่ออาชญากรรม  นักเขียนผู้ไร้เกียรติ และ คนนอกรีต
หนังสือเรื่อง “เจ้า”  ของแมคเคียเวลลี  เป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากในประวัติศาสตร์โลก  โดยเฉพาะในบรรดาผู้นำของโลกทั้งหลาย  รายชื่อผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้  ย่อมสะท้อนอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี  ตัวอย่างเช่น  จักรพรรดิชาร์ล ที่ ๕  โอลิเวอร์  ครอมเวลส์  กษัตริย์เฮนรี่ ที่ ๓   กษัตริย์เฮนรี่ ที่ ๔ พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔  พระเจ้านโปเลียนมหาราช  แห่งฝรั่งเศส  ออตโต  ฟอน  บิสมาร์ก  จอมเผด็จการ อดอล์ฟ  ฮิตเลอร์  แห่งเยอรมัน  คาวัวร์  มุสโสลินี  แห่งอิตาลี

จะเห็นได้ว่า  อิทธิพลของ “เจ้า”  อาจยิ่งใหญ่ต่อนักวิชาการ นักคิด ทั้งหลาย  เพราะสิ่งหนึ่งที่แมคเคียเวลลี พยายามจะบอกกับคนอ่านผู้แสวงหา ก็คือ  บางทีค่านิยมของมนุษย์อาจจะมีแบบอื่นนอกจากที่ยึดถือกันอยู่  และค่านิยมชุดใหม่นี้ก็อาจสลักสำคัญทัดเทียมกับค่านิยมคลาสสิก  และค่านิยมทางศาสนาที่ยึดถืออยู่  ซึ่งเท่ากับการสั่นสะเทือนฐานรากของอารยธรรมตะวันตกทีเดียว  และค่านิยมชุดใหม่นี้  ก็มีแก่นแห่งความเชื่อมั่นศรัทธาในพลังความสามารถที่จะเอาชนะโชคชะตาของมนุษย์เป็นหลักสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น