วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรัชญาศาสนากับสังคมปัจจุบัน

ปรัชญาศาสนากับสังคมปัจจุบัน
14.1 ปรัชญาศาสนาพุทธกับสังคมปัจจุบัน
            14.1.1 ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับวิถีชีวิต สังคมพุทธศาสนา
            1. ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคม
          พุทธศาสนามีความเกี่ยวพันกับวิถีชาวพุทธในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งของสังคมที่มีความสำคัญ ให้ความหมายและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ เป็นที่มาและถ่ายทอดวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติไทยกล่าวโดยสรุป พุทธศาสนาเป็นเสมือนรากเหง้าแห่งความเป็นชาติและเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาติไทยทั้งทางด้านสังคมวัฒนธรรมและการเมือง การพิจารณาความสำคัญ บทบาท และอิทธิพลที่พุทธศานามีต่อวิถีชีวิตประชาชนชาวพุทธนั้นจะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งรวมกันเป็นพุทธศาสนาด้วย องค์ประกอบที่เป็นพุทธศาสนานั้นได้แก่ พระพุทธเจ้า พระพุทธธรรมคำสั่งสอน พระภิกษุสงฆ์ วัด และอุบาสกอุบาสิกา ดังนั้นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสังคมไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเชิงปรัชญา เชิงเศรษฐกิจ การเมือง ความเกี่ยวพันของแต่ละองค์ประกอบมีความสำคัญ ความสำคัญของแต่ละส่วนประกอบอาจจะยิ่งหย่อนกันไปก็ต่อเมื่อประเด็นปัญหาที่นำมาพิจารณานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใดเป็นการเฉพาะกล่าวโดยสรุป
ส่วนที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีประชาชนชาวพุทธมากที่สุดได้แก่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ดั่งปรากฏในพระสูตรในชาดก ฯลฯ นอกจากพระธรรมแล้วก็ได้แก่ พระสงฆ์และวัดซึ่งเป็นส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมและเกี่ยวพันมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ตลอดเวลา
          2.  หลักคำสอนของพุทธศาสนากับสังคม
          หลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนามีอยู่มากมายและจำแนกออกเป็นหลายหมวดหมู่ แต่ละหลักคำสอนแต่ละหมู่มีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสาเหตุ ผล และทางที่จะแก้ปัญหาแต่ละอย่าง นอกจากนี้ระดับของความลุ่มลึกและความกว้างไกลของแต่ละหลักคำสอน ยังมีจุดหมายเพื่อสนองตอบความต้องการที่แตกต่างกันของบุคคลด้วยเหตุนี้การตีความของหลักคำสอนจึง มักจะโน้มเอียงไปตามทรรศนะประสบการณ์อันเนื่องมาจากอาชีพ สาขาวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนตัวอย่างเช่นนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์  บางท่านอาจจะตะความสันโดษเพียงว่าเป็นความพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่และสภาพ เช่นว่านี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในทางตรงข้ามนักธรรมชาติหรือนักรักษาสภาวะแวดล้อม จะเห็นว่าการตีความสันโดษดังกล่าวเหมาะแล้วเพราะการรักษาสภาพที่เป็นอยู่ เป็นการอนุรักษ์ความดีงามซึ่งการตีความทั้งสองด้านนั้นถ้าพิจารณาจากนักการศาสนาแล้วยังขาดความสมบูรณ์อย่างมากด้วยเหตุผล  ดังกล่าวนี้ระดับความเข้าใจพุทธสาสนาของชาวพุทธในสังคมไทยจึงมีความแต่กต่างกันอย่างมากหากจะแบ่งเป็นฝักฝ่ายใหญ่ๆ สองฝ่ายอาจจะกำหนดได้เป็น
          (1) ฝ่ายที่ยึดถือศาสนาพุทธตามหลักพระคัมภีร์ กล่าวคือ ยึดถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระศาสนาเช่น พระไตรปิฎก พระสูตรต่างๆ เป็นต้น ผู้ยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางนี้จะปฏิเสธหลักการคำสอนและวิธีปฏิบัติอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในพระคัมภีร์ เช่น ความเชื่อในภูติผีเทวดา ความเชื่อและการปฏิบัติที่รับมา แปลงมาหรือปรับปรุงมาจากลัทธิความเชื่อศาสนาอื่นๆ พุทธศาสนิกชนประเภทนี้ถือว่าเป็นคนส่วนน้อยซึ่งมักจะจัดว่าเป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง
          (2) ฝ่ายที่ถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน อันหมายถึงการเชื่อหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ได้ผสมผสานกับความเชื่ออย่างอื่นและศาสนาอื่นๆ เช่น พราหมณ์ จนผู้ถือและปฏิบัติไม่อาจแยกออกได้ว่า ส่วนใดเป็นหลักคำสอนที่มาจากพระพุทธศาสนาจริง ๆ และส่วนใดไม่ใช่สำหรับการปฏิบัติพิธีกรรมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของศาสนานั้น ถ้าหากเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้านจะมีพิธีกรรมหลากหลาย ให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมสูง พิธีกรรมในศาสนาจะมีลักษณะทั้งผสมผสานและผสมปนเปเช่นพิธีแต่งงานที่มีทั้งพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร พิธีพราหมณ์เช่นการเชิญพราหมณ์มาทำพิธีสวมมงคลการให้มีการรดน้ำสังข์นอกจากนี้  ยังอาจจะมีการเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ เจ้าที่เจ้าทางและและการไหว้บรรพบุรุษเป็นต้นส่วนการปฏิบัติศาสนพิธีของผู้ที่ถือพุทธศาสนาโดยยึดตามคัมภีร์นั้น มักจะมีความสำคัญแก่พิธีเหมือนที่เป็นหลักการทางพุทธศาสนาเท่านั้นหลักธรรมหรือคำสั่งสอนของพระพุทธ มีอยู่มากมายหลายหมวดหมู่ และมีชื่อแตกต่างกันไป เช่น หลักธรรมที่ว่าด้วยความจริงอันประเสริฐเรียกว่าอริยสัจซึ่งกล่าวถึงสภาวะธรรมชาติของทุกข์ เหตุที่เป็นที่มาของความทุกข์ ความดับทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์หรือหลักธรรมที่สอนให้บุคคลสามารถครองชีวิตทางเศรษฐกิจให้ปราศจากความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เรียกว่าทิฏฐธัมกัตถประโยชน์ หรือธรรมที่เรียกว่าอิทธิบาท 4 ดังนี้เป็นต้น แต่หากพิจารณาโดยรวบรวมยอดแล้วจะเห็นได้ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งที่จะ
          1. อธิบายสภาวะธรรมชาติของชีวิตเช่นสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คงอยู่ได้เพราะเหตุใด เสื่อมสลายไปเพราะอะไร ฯลฯ
          2. อธิบายและสอนถึงวิธีการที่จะครองชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับสภาวะธรรมชาติ การบรรเทาความทุกข์ อันเกิดจากสภาวะนานาประการ
          3. อธิบายและสอนแนวทางการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคม ตั้งแต่ระดับเอกบุคคลจนถึงปวงชนทั้งชาติและทั้งโลก เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์ของครอบคัวต่อครอบครัว   ระหว่างครูกับลูกศิษย์ สมณชีพราหมณ์กับบุคคลธรรมดา เพื่อนกับเพื่อน นายกับลูกจ้าง ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง รัฐบาลกับประชาชน แม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
          4. อธิบายและแนะนำแนวทางที่จะนำหลักธรรมคำสอนไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ตามลักษณะของปัญหาตามระดับสติปัญญา และความประสงค์ของบุคคลดังนั้นระดับคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงมีหลายระดับทั้งที่เป็นสัจธรรมเบื้องต้น เบื้องกลาง และสูง มีทั้งส่วนที่เรียกว่าเป็นโลกียธรรมและโลกุตรธรรม เป็นต้น
          14.1.2 พุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม
          ความเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นอนิจจังเป็นหลักการที่สำคัญในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสังคมไทยกล่าวคือ
            1. ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสังคม
          1.1) ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมนุษย์ ได้แก่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความสุข ความทุกข์ ความสมหวังความผิดหวังความผิดหวังซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ แต่พระองค์ต้องการหาสาเหตุและทางดับทุกข์หรือบรรเทาทุกข์เสีย
            1.2) ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่
                  1.2.1 การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง ในระยะเวลาก่อนพุทธกาลนั้น รูปแบบการปกครองหรือระบบการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ๆ คือ ราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบบที่ 4 แคว้นในอินเดีย ตอนเหนือนิยมและมีอำนาจทางการเมืองเข้มแข็งมาก ส่วนอีก 2 แคว้นที่เหลือนิยมระบอบการปกครองแบบ สามัคคีธรรมที่เทียบเท่าระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน กล่าวคือการปกครอง การกำหนดนโยบายการออกกฎหมาย การตัดสินปัญหาต่างๆ ผู้ปกครองจะกระทำโดยมีการปรึกษาหารือกันก่อนมีการถือเสียงส่วนมาก
          ในการตัดสิน อย่างไรก็ดีในระยะต่อมา การปกครองแบบสามัคคีธรรมถูกดูดกลืนกลายเป็นราชาธิปไตยหมดสิ้น  ทั้งนี้เนื่องมาจากแคว้นราชาธิปไตยเข้มแข็งกว่า ได้ขยายอาณาเขตและยึดครองแคว้นที่ปกครองแคว้นที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม
          1.2.2 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายอาณาเขตของรัฐหรือแคว้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้ามากขึ้นเมื่อการค้าเจริญเติบโตขึ้น
            2. พุทธศาสนากับการจัดระเบียบสังคม
             2.1) การอบรมกล่อมเกลาให้รู้ระเบียบสังคม พุทธศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรม ค่านิยม และระเบียบประเพณีที่สำคัญองชนชาวไทย การอบรมกล่อมเกลาระเบียบสังคมมักจะกระทำผ่านกระบวนการและสถาบันหลายอย่างนามธรรม และรูปธรรม เช่นวัดและพระสงฆ์ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ปลูกฝังอบรมกล่อมเกลาระเบียบสังคมแบบพุทธและวิถีชีวิตแบบพุทธ
             2.2) เป็นสื่อหรือกลไกในการควบคุมระเบียบสังคม การที่มนุษย์มารวมกันอยู่เป็นสังคมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมให้สมาชิกของสังคมอยู่ในกฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสังคม พุทธศาสนาเช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ มีบทบาทสำคัญในการกระทำหน้าที่ดังกล่าวมากวัดและพระสงฆ์เป็นกลไกทางพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งในการอบรมกล่อมเกลาให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ หลักธรรมสำคัญๆ ที่ช่วยควบคุมสังคมตัวอย่างเช่น เบญจศีลเบญจธรรม พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น การที่บุคคลได้รับการสั่งสอน  หลักธรรมและยึดถือแนวทางชีวิตร่วมกันจำทำให้สังคมมีความขัดแย้งและลดปัญหาสังคมนานาประการ
             2.3) เป็นสื่อในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม การที่พุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนที่โน้มนำให้ประชาชนมีความเชื่อและปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างเดียวนั้น เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคมที่มีบูรณาการทางเชื้อชาติและศาสนาเข้มแข็งจำทำให้มีความมั่นคงแก่ประเทศชาติ   เป็นส่วนรวม นอกจากพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว พิธีกรรมและเทศกาลทางพุทธศาสนายังมีส่วนสำคัญในการ เน้นสำนึกความเป็น พวกเดียวกัน หรือเป็นคนไทยด้วยกัน
            14.1.3 อำนาจการเมืองในทรรศนะของพุทธศาสนา
          1. วิวัฒนาการสังคมการเมืองและความจำเป็นต้องมีการปกครอง
          วิวัฒนาการของมนุษย์จนกระทั่งก่อตั้งเป็นสถาบันครอบครัวและขยายเป็นสถาบันสังคมที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งจำเป็นต้องจัดระเบียบการปกครองให้เป็นระบบขึ้น ในทรรศนะของพุทธศาสนาแล้ว กระบวนการวิวัฒนาการดังกล่าวมีลักษณะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ความจำเป็นที่ต้องจัดระเบียบสังคมและระเบียบการปกครองนั้น เนื่องมาจากความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของสังคม อันเนื่องมาจากการขาดความรับผิดชอบ ความเห็นแก่ตัว และด้อยศีลธรรมของมนุษย์วิวัฒนาการของสังคมการเมืองอาจพิจารณาได้เป็นขั้นตอนดังนี้
          1.1) โลกเกิดจากธาตุซึ่งเดิมมีความร้อนจัด ต่อมาค่อยๆ เย็นลงและเป็นโลก มีแผ่นดินและพื้นน้ำ มีอากาศมีฤดูกาล
          1.2) มีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น มีพืช สัตว์ และมนุษย์ ตามลำดับมนุษย์ต่างๆ เหล่านั้นในขั้นแรกมิได้มีผิวพรรณ และเพศ ผิดแผกต่างกัน ต่างดำรงชีพอยู่บนปัจจัยพื้นฐานคือ อาหาร ซึ่งได้จากพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นทรัพยากร ธรรมชาติส่วนรวม มนุษย์ยังไม่รู้จักสะสม ความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลจึงยังไม่มี มนุษย์มีความดีพร้อมปราศจากความขัดแย้ง
          1.3) มนุษย์เริ่มสูญเสียความดี เมื่อเกิดความแตกต่างทางกายภาพ และผิวพรรณเกิดขึ้นเกิดการเหยียดผิวพรรณเกิดความรู้สึกปฏิพัทธ์ในเพศตรงข้าม ความรู้สึกเป็นพรรคเป็นฝักฝ่ายเกิดขึ้น
          1.4) การสืบพันธุ์เป็นสัญชาตญาณที่สำคัญของมนุษย์ และเป็นเหตุให้เกิดครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสังคม เมื่อเกิดครอบครัวแล้วทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเฉพาะครอบครัวจึงเกิดความคิดที่จะสะสม ต้องจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่มาของการปฏิบัติเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเกิดขึ้น
          1.5) เมื่อสังคมเติบโตขึ้น มนุษย์มีมากขึ้นภาวะที่แท้จริงของมนุษย์คือมนุษย์ที่ดีที่ชั่วก็ปรากฏขึ้น อันเนื่องมาจากความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเกียจคร้าน ผลก็คือทำให้สังคมระส่ำระสาย สังคมไม่น่าอยู่และผู้คนเดือดร้อน
             1.6) ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์ต้องการความสุขความสงบ ความเดือดร้อน มนุษย์จึงร่วมใจกันหาทางแก้ปัญหาโดยเลือกผู้ที่มีความสามารถ เข้มแข็ง ทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าความระส่ำระสายในสังคม ผู้ที่ได้รับเลือกนี้มีฐานะเป็นหัวหน้าเป็นตำแหน่ง มหาชนสมมติ
            2. การปกครองและผู้ปกครองที่ดีที่สุด
          การปกครองที่ดีในทรรศนะของพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับทรรศนะทางปรัชญาการเมืองสากล กล่าวคือ การปกครองที่ดีคือระบอบการปกครองที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ ให้เป็นสังคมที่ดีมีระเบียบ ให้อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุขและอุดมสมบูรณ์ในระบอบการปกครองเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่ากิจกรรมส่วนของสังคม หรือกิจกรรมการเมืองนั้นคือกิจกรรมส่วนรวมของสังคม เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มนุษย์จำต้องช่วยกันรักษาและทะนุบำรุงผลประโยชน์ส่วนร่วมของเราเอาไว้ในทรรศนะของพุทธศาสนา ระบอบการปกครองที่ดีอาจจะเป็นระบอบการปกครองแบบใดก็ได้ที่ยึดหลักการที่สำคัญต่อไปนี้
             2.1) การได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ การขยายอำนาจ และการรักษาอำนาจไว้ซึ่งอำนาจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมากที่สุด อำนาจของผู้ปกครองมิใช่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
             2.2) ความมั่นคงของระบอบการปกครอง หรือของรัฐบาลและผู้ปกครอง มิใช่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง หรือจุดประสงค์สุดท้ายของระบอบการเมืองการปกครอง แต่เป็นเพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุข สวัสดิภาพ   บูรณาการ และความสงบสุขของประชาชน
            3.3) ให้ความสำคัญแก่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยเน้นความเท่าเทียม การปราศจากชั้นวรรณะจากชาติกำเนิดความเสมอภาคในทางเพศหมายความว่า ไม่ถือว่าเพศหญิงมีสถานภาพต่ำกว่าเพศชาย เน้นเสรีภาพด้วยการห้ามการมีทาส รวมตลอดถึงการการแนะนำให้ใช้หลักเหตุในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องต่างๆ ดังปรากฏในกาลามสูตร
          4.4) ยึดธรรมเป็นแนวทางในการปกครอง ธรรมที่สำคัญดังกล่าวได้แก่
                  4.4.1 ทศพิธราชธรรม คือ คุณธรรมของผู้ปกครอง 10 ประการ ไม่ว่าจะเป็นราชาหรือรัฐบาลตามความหมายสมัยใหม่  ธรรมที่ผู้ปกครองพึงยึดถือปฏิบัติได้แก่
          - ทาน คือ การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ด้วยการอุทิศตนแก่งานเพื่อความอยู่ดีกินดี ความมั่นคง ปลอดภัย และความก้าวหน้าของผู้อยู่ใต้ปกครอง 
- ศีล หมายถึง การรักษาความสุจริต เป็นตัวอย่างของความดีงามทั้งด้านความประพฤติการปฏิบัติ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้อยู่ภายใต้การปกครอง
- ปริจจาคะ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
          - อาชวะ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงมีความซื่อสัตย์ ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง
          - ตปะ หมายถึง การมีความมั่นคงในด้านจิตใจ ไม่หลงใหลมัวเมาในกิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในสิ่งเย้ายวนมุ่งมั่นทำความเพียรเพื่อกระทำกิจให้สมบูรณ์
-   มัททวะ หมายถึง ความมั่นคงในด้านจิตใจ ไม่หลงใหลมัวเมาในกิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในสิ่งเย้ายวน มุ่งมั่นทำความเพียรเพื่อกระทำกิจให้สมบูรณ์
- อักโกธะ หมายถึงการไม่มีจิตใจครอบงำ ครอบคลุมด้วยอารมณ์โกรธ ขุ่นมัวกระทำกิจการด้วยจิตสุขุมราบเรียบและเพียบด้วยวิจารณญาณ
          - อวิหิงสา หมายถึงการไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้น กดขี่ มีความกรุณาไม่หาเหตุเบียดเบียน ลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ ด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
          - ขันติ หมายถึงความอดทนต่อสรรพสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและความเพียรที่จะปฎิบัติธรรมดี ไม่ย่อท้อต่อความลำบากทั้งด้านกายภาพและอารมณ์
          - อวิโรธนะ หมายถึง การไม่ประพฤติผิดจากประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขอันดีงามของรัฐและราษฎร เป็นที่ตั้ง ไม่เอนเอียงด้วยโลภ โมหะ โทสะ ปกครองด้วยหลักนิติธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งการปกครองอันดีงาม
              4.4.2 จักรวรรดิวัตรธรรม คือ ธรรมของนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าองค์จักรพรรดิธรรมดังกล่าวมี 12ประการ  ดังนี้
            - การอนุเคราะห์คนในราชสำนัก และคนภายนอกให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย
            - การผูกมิตรไมตรีกับประเทศอื่น
             - การอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์
            - การเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดี และคหบดีชน คือ เกื้อกูลพราหมณ์ และผู้ที่อยู่ในเมือง
            - การอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
            - การรักษาฝูงเนื้อนก และสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์
            - การห้ามคนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต
           - การเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริตต่อสังคม
            - การเข้าใกล้สมณพราหมณ์ เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศล และอกุศลให้ชัดแจ้ง
           - การห้ามมิให้ลุอำนาจแก่ความกำหนัดยินดีในทางที่ผิดธรรม
           - การห้ามจิตมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
             4.4.3 ราชสังคหวัตถุ หมายถึงธรรม 4 ประการ ที่เป็นแนวทางในการสงเคราะห์ประชาชนอันได้แก่
   - สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์
          - ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงราชการ คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จำบำรุงข้าราชการ ด้ายการส่งเสริมความสามารถ และจัดสวัสดิการให้ดี เป็นต้น
          - วาจาไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ คือ รู้จักพูด รู้จักชี้แจงแนะนำ รู้จักทักทายถามไถ่ทุกข์สุขราษฎรทุกชนชั้น  แม้ปราศรัยก็ไพเราะน่าฟัง ทั้งประกอบด้วยเหตุผล เป็นหลักฐานมีประโยชน์ เน้นทางแห่งการสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาเสริมความสามัคคีทำให้เกิดความเข้าใจดีความเชื่อถือ และความนิยมนับถือ
             4.4.4 ละเว้นอคติ นักปกครองเมื่อปฏิบัติหน้าที่พึงเว้นความลำเอียง หรือความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม  4  ประการ
                 - ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
                 - โทสาคติ ลำเอียงเพราะความชัง
                 - โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา
                 - ภยาคติ ลำเอียงเพราะขลาดกลัว
              4.4.5 ยึดธรรมาธิปไตยเป็นหลักปฏิบัติในการใช้อำนาจปกครอง หมายความว่าผู้ปกครองถือธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง คือถือหลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเหตุผลเป็นใหญ่กระทำการใดๆ หลังจากได้พิจารณาไตร่ตรองข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่ได้รับฟังมาแล้วอย่างกว้างขวาง พิจารณาอย่างดีที่สุดเต็มขีด แห่งสติปัญญา จะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงาม กระทำการต่างๆ   โดยยึดหลักการ กฎ ระเบียบกติกา
            14.1.4 พุทธศาสนากับการพัฒนาสังคม
            หลักการที่สำคัญของพุทธศาสนาก็คือสนับสนุนการดำรงชีวิตอันประเสริฐ แก่นแท้ของพุทธศาสนา คือ การละเว้นความชั่วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส การดำรงชีวิตอันประเสริฐนี้ พุทธศาสนาเน้นความมีอิสรภาพและเสรีภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนเองเพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตน พัฒนาชีวิตและสังคม ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง  และสังคม 
          กล่าวโดยสรุป จุดหมายสุดท้ายของการพัฒนาชีวิต การดำรงชีวิตอันประเสริฐนั้นจะต้องมุ่งไปที่สังคมโดยส่วนรวมมิใช่เอกบุคคลใดบุคคลหนึ่งสังคมที่พัฒนา การที่จะสามารถพัฒนาชีวิตและสังคมเพื่อการดำรงชีวิตอันประเสริฐนั้นศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรได้กล่าวไว้ว่า สังคมนั้นจะต้องเป็นสังคมที่มีลักษณะที่ดี ดังนี้
          1. มีสมรรถภาพ หมายความว่าบุคคลในสังคมนั้นมีความสามารถที่จะประกอบกิจต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่างๆ แก่บุคคลทั้งทางด้านวัตถุ ประโยชน์ทางปัญญาและประโยชน์ทางธรรม ประโยชน์ทางวัตถุ
          2. บุคคลในสังคมนั้นมีอิสระเสรีภาพ สังคมใด ๆ จะมีสมรรถภาพดังกล่าวมาแล้วได้ บุคคลในสังคมนั้นจะมีเสรีภาพเพราะเสรีภาพเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาสมรรถภาพให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การมีเสรีภาพทำให้มนุษย์มีอิสระที่จะพัฒนาความสามารถที่จะเลือกจุดหมายและวิถีทางแห่งชีวิต ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของพุทธศาสนา
          3. ความยุติธรรมในสังคม สังคมจะพัฒนาได้ต่อเมื่อบุคคลในชาติมีความผูกพันต่อกันความผูกพันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนในชาติมีสามัคคีธรรม สามัคคีธรรมนั้นตั้งอยู่บนความยุติธรรมในสังคม ดังนั้น ความยุติธรรมนำไปสู่สันติ และสันติเป็นมูลฐานแห่งการพัฒนาที่เหมาะสมกับคุณค่ามนุษย์
          4. ความเมตตากรุณา เป็นหลักธรรมสำคัญที่จะให้การพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึงและยุติธรรม
หากมีความเมตตากรุณาในสังคมด้วยจะช่วยให้การพัฒนาชีวิตและสังคมเป็นไปโดยสมบูรณ์
          เศรษฐกิจที่พัฒนา
          เศรษฐกิจเป็นกิจกรรมที่ผูกพันกับ วิถีชีวิตมนุษย์อย่างแน่นแฟ้น ระดับความเป็นอยู่ที่ดี ทางด้านวัตถุ ความสะดวกสบายทางด้านกายภาพนั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนา เศรษฐกิจของชาติเศรษฐกิจพัฒนาในทรรศนะของพุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญแก่มนุษย์และธรรมชาติมากกว่าผลิตผลและกำไร การผลิตและการทำงานควรจะเป็นเพื่อเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้และพัฒนาความสามารถส่วนตัวเพื่อช่วยให้มนุษย์ขจัดอัตตา ด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตผลและบริการอันจำเป็นแก่การดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงชี้แนวทางเศรษฐกิจ ชาวพุทธที่เน้นความเรียบง่ายทั้งสิ่งบริโภคและอุปโภค
          แม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์สุขสบายแต่ทรรศนะทางพุทธศาสนาปฏิเสธการประเมินคุณค่าของชีวิตด้วยทรัพย์สิน ยศศักดิ์และความมั่นคงทางวัตถุ และปฎิเสธการตีค่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเพียงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อาจซื้อขายกันด้วยเงินตรา การพัฒนาเศรษฐกิจตามทรรศนะพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญต่อการยกคุณค่าของมนุษย์ ความยากจน เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คุณค่าของคนไม่เท่ากัน ดังนั้น การยกคุณค่าของมนุษย์จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความยากจนของคนส่วนมาก ด้วยการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมรายได้ที่จัดสรรตามวิธีการและกระบวนการเศรษฐศาสตร์แบบพุทธนั้น มุ่งหวังให้สมาชิกในสังคม มีความสงบสุขดำรงชีพด้วยหลักสมถะคือเลี้ยงชีพตามควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ฝืดเคืองไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เดือดร้อนผู้อื่น
14.2 ปรัชญาศาสนาอิสลามกับสังคมปัจจุบัน
                  14.2.1 อิสลามในทรรศนะดั้งเดิมสมัยศาสดา
          อิสลามเป็นศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว พระผู้ทรงสร้างสากลจักรวาล ทรงสร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง รวมทั้งมนุษย์ฉะนั้นอิสลามจึงเป็นศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานเป็นทางนำแก่มนุษยชาติทั้งมวล ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงเป็นความเมตตาปราณีจากพระผู้บังเกิดชีวิตมนุษย์ อิสลาม หมายถึง การยอมจำนนยังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ซึ่งนำไปสู่สันติสุขและสันติภาพถาวรของมนุษยชาติ สารัตถะแห่งคัมภีร์อัลกุรอานเน้นว่า มนุษย์จะภักดีสิ่งอื่น ๆ เป็นภาคีเทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวไม่ได้  เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างเช่นเดียวกับมนุษย์ ไม่สามารถจะให้คุณหรือโทษแต่ประการใดได้เลยมนุษย์มีชีวิตที่สูงส่งและมี เป้าหมายที่แน่นอนเพราะมนุษย์มีสติปัญญา มีความคิดและเหตุผลที่จะเลือกเฟ้นในสิ่งต่าง ๆ ได้มนุษย์ถูกบังเกิดให้มาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเพื่อวิวัฒนาการต่อไปในโลกหน้า ซึ่งเป็นอีกมติภพหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องไปสู่อันหลีกเลี่ยงมิได้และการกระทำทุกอย่างของมนุษย์จะได้รับการพิพากษาตัดสินจากพระผู้ทรงยุติธรรม
          1. หลักการเบื้องต้นของอิสลาม
          หลักการศรัทธา ซึ่งมุสลิมทุกคนผู้ที่ศรัทธาในหลักการนี้จะต้องยึดมั่นกับหลักการศรัทธาดังกล่าว นั้นคือ    การศรัทธาในอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว พระองค์ทรงยุติธรรม (อาดิล) ศรัทธาในมวล มะลาอิกะฮ์ ซึ่งเป็นสภาพที่ถูกบังเกิดจากรัศมีของพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นผู้รับบัญชาในกิจการของพระผู้เป็นเจ้ส ศรัทธาในคัมภีร์ทั้งหลาย รวมทั้งคัมภีร์ อัล-กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายศรัทธาในศาสดาทั้งหลายและผู้สืบทายาทที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นผู้สืบเจตนารมณ์อิสลามมาจนถึงปัจจุบันศรัทธาในวันสิ้นโลก (กิยามะฮ์) และ กฎแห่งการตอบแทนความดีความชั่ว ศรัทธาในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความยุติธรรมตามแนวทางศาสนา (ญิฮาด) ส่งเสริมสิ่งดีงามและห้ามปรามในสิ่งชั่วร้าย หลักปฏิบัติ มุสลิมทุกคนผู้ยอมรับหลักการศรัทธาแล้วจะต้องปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์องค์เดียวและมุฮัมมัด คือศาสนทูตของพระองค์ ต้องดำรงการนมาซ (ละหมาด) วันละ 5 เวลาต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
          2. อิสลามกับการปกครอง
          อิสลามเป็นระบอบในการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ ฉะนั้น การเมืองการปกครองจึงเป็นหลักการของอิสลามด้วยแต่การปกครองของอิสลามนั้นวางอยู่บนหลักการพื้นฐานของคัมภีร์อัล-กุรอาน และหลักจริยวัตรของท่านศาสดา ซึ่งถือว่าเป็นที่มาของหลักการแห่งนิติศาสตร์ ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบเบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้าและประชาชนตามหลักการอิสลามต้องรับผิดชอบต่อการปกครองของเขา ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครองมิฉะนั้นแล้วประชาชนก็มีอำนาจถอดถอนผู้ปกครองที่อยุติธรรมนั้นได้ การปกครองที่เป็นเผด็จการ นั่นคือ การใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครองเองใช้อำนาจกดขี่  เบียดเบียนรีดนาทาเร้นผลประโยชน์ของผู้อยู่ใต้การปกครอง ใช้อำนาจไปในทางทุจริตทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจอันเป็นที่มาแห่งความเดือดร้อนของพลเมือง ทำให้ชีวิตของพลเมืองถูกบิดเบือนไปจากหนทางแห่งความเที่ยงธรรมไม่สามารถจะเจริญ  เติบโตทางด้านความคิดและจิตวิญญาณได้ ฉะนั้น ผู้ปกครองจะต้องยุติธรรมและมีความรักความเมตตาต่อประชาชนอำนาจ  อธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์ พระองค์เท่านั้นที่เป็นแหล่งแห่งอำนาจสูงสุดไม่มีอำนาจอื่นใดนอกจากพระองค์พระองค์ทรงเป็น  บ่อเกิดแห่งอำนาจอธิปไตยในการปกครองและในด้านกฎหมาย พระองค์ทรงชี้นำโดยผ่านศาสดาและบรรดาผู้สืบทอดเจตนารมณ์แห่งอิสลามนี้ให้นำหลักนิติศาสตร์อิสลามมาใช้ปกครอง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความจำเริญและความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งแก่ชีวิตของมนุษย์ทุกคน อำนาจอธิปไตยของพระผู้เป็น เจ้าผู้ใดจะละเมิดมิได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ปกครองหรือเป็นผู้อยู่ในฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็ละเมิดอำนาจนี้มิได้ อิสลามกับการเมืองและการปกครองจึงแยกกันไม่ได้
          3. อิสลามกับหลักเศรษฐกิจ
          อิสลามตระหนักว่าปัจเจกชนทุกคน ได้รับอิทธิพลทั้งจากปัจจัยภายในซึ่งควบคุมพฤติ กรรมของมนุษย์ทุกคนและปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้มนุษย์ต้องเข้าสู่สังคมอิสลามจึงไม่ปฏิเสธสิทธิตามธรรมชาติ ของบุคคลและป้องกันมิให้การใช้สิทธิส่วนบุคคลไปละเมิดสิทธิบุคคลอื่น อิสลามจึงวางหลักกฎหมายครอบครัว การครอบครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล  กฎหมายมรดก อิสลามห้ามกินดอกเบี้ยและสกัดกั้นระบบผูกขาด และการกักตุนเพื่อต้องการเก็งความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
          4. อิสลามกับวัฒนธรรม
          วัฒนธรรมตามทรรศนะของอิสลามนั้น ก็คือชีวิตที่อยู่ภายในบทบัญญญัติและแบบฉบับอันดีงามที่เป็นแบบแผนจากท่านศาสดา มุฮัมมัด ซึ่งเป็นจอมศาสดาของโลก วัฒนธรรมต้องได้รับการหล่อหลอมอบรมบ่มนิสัยให้อยู่ในชีวิตจิตใจของทุกคนฉะนั้น วัฒนธรรมอิสลามก็คือเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ศรัทธาในหลักการนี้ที่ชื่อมุสลิมได้มีชีวิต อยู่ในวัฒนธรรมดังกล่าวซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันสูงส่งจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้สร้างชีวิต ที่พระองค์ประสงค์จะให้มนุษย์ดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมที่พระองค์  ต้องการประชาชาติมุสลิม (อุมมะฮ์) เอาไว้ให้จำเริญเติบโตขึ้นภายในขอบเขต แห่งวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทรงชี้นำไว้แล้วในคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์แห่งการฟื้นฟูปรับปรุงมนุษยชาติ จนกระทั่างมนุษย์ได้เจริญพัฒนาการไปในทุก ๆ ด้าน  จนอยู่ในสภาพที่เข้าใจเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวได้ นั่นคือมนุษยชาติเป็นประชาชาติเดียวกันอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกันทั่วโลก ที่น่าสังเกตก็คือว่า ในรัฐอิสลามนั้นอำนาจทางการเมืองและการปกครองอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติเพราะหลักนิติบัญญัติในอิสลามนั้น คือพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นอยู่ที่การปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติเท่านั้น รัฐอิสลามมิใช่รัฐในอุดมคติ แต่เป็นรัฐที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติการได้อันเป็นแบบฉบับแห่งอุดมการณ์ของอิสลามศาสนา  มิใช่ความคิดเพ้อฝันเลื่อนลอยที่หาขอบเขตมิได้แต่อิสลามเป็นหลักการปฏิบัติจริง ๆ ในชีวิตจริงๆของมนุษย์ซึ่งวางอยู่บนมโนธรรมสำนึกของมนุษย์ทุกคนที่ยอมรับเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าและเอกภาพของมวลมนุษย์ ฉะนั้นอิสลามกับการปกครองและการเมืองจึงแยกกันไม่ได้
            5.  อิสลามกับการศึกษา
          การศึกษาเป็นหน้าที่ทั้งชายหญิงเป็นพระบัญญัติในคัมภีร์  อัล กุรอาน ตามหลักการอิสลาม มุสลิมจะต้องศึกษาจากอู่เปลถึงหลุมฝังศพ ต้องศึกษาศาสตร์ทุกแขนงหลักการแห่งคัมภีร์อัล กุรอาน และเจตนารมณ์ของอิสลามทั้งระบบ
         
          14.2.2 อำนาจอธิปไตยในทรรศนะอิสลาม
           อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของอัลลอฮ์ซึ่งเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ทรงสร้างสากลจักรวาลและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในธรรมชาติ พระองค์ไม่อยู่ภายใต้กฎที่พระองค์ทรงบังเกิดแต่สิ่งที่ถูกบังเกิดทั้งมวลจะต้องดำเนินไปตามกฎทุกสรรพสิ่งดำเนินไปตามกฎแห่งเหตุและผล ตลอดจนถึงส่วนประกอบของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฎภายในโครงสร้างแห่งเหตุและผลนั้นๆ
          1. หลักคัมภีร์ อัล-กุรอาน
         อัล - กุรอาน เป็นพจนารถของพระผู้เป็นเจ้า เป็นคัมภีร์ชี้นำในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมนุษย์ไปสู่สภาพที่สูงส่ง เป็นคัมภีร์ที่ตอบปัญหาชีวิต และปัญหาอภิปรัชญาทุกอย่าง อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แห่งการปฏิวัติปลดปล่อยมนุษยชาติให้พ้นจากความงมงายไปสู่สภาพสูงส่งที่จะสร้างสรรค์อารยธรรมแผนใหม่ให้แก่มนุษย์ทุกคน อัล-กุรอาน เป็นแม่บทแห่งธรรมนูญของประเทศอิสลาม  อัล-กุรอาน เป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย อัล-กุรอานเป็นหลักทฤษฎีชี้นำทุกกิจกรรมของมนุษยชาติเพื่อที่จะให้มนุษย์นำหลักการอันเป็นสากลนั้นมาปฏิบัติประยุกต์ใช้ในทุกสังคมและในทุกยุคทุกสมัยจนถึงกาลอวสานต์ของโลก
          2. หลักจริยศาสตร์ของท่านศาสดา มุฮัมมัด
          หลักจริยศาสตร์ของท่านศาสดา มุฮัมมัด นั้น วางอยู่บนหลักคัมภีร์ อัล-กุรอาน ซึ่งเป็นพจนารถของ
พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเป็นหลักที่เน้นเอกภาพและการกลับคืน สู่พระผู้เป็นเจ้าในวันโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) หลักจริยศาสตร์นี้วางอยู่บนกฎแห่งคุณธรรมซึ่งถูกกำหนดโดยอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าว่า สิ่งใดเป็นความดี สิ่งใดเป็นความชั่ว สิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ สิ่งใดถูก สิ่งใดผิดสิ่งใดยุติธรรม  สิ่งใดอยุติธรรม สิ่งใดบุญ สิ่งใดบาป กฎเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นตามความต้องการหรือตามยุคตามสมัยของสังคมแต่เป็น กฎสากลของพระผู้เป็นเจ้าที่กำหนดลงในบัญญัติแห่งคัมภีร์
          3. แหล่งที่มาของกฎหมายอิสลาม
          แหล่งที่มาคือคัมภีร์ อัล-กุรอาน และหลักจริยวัตรประพฤติปฏิบัติและวจนะ ของท่านศาสดา ซึ่งเรียกว่า ซุนนะฮ์ สองหลักนี้เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติและการตีความหลักนิติศาสตร์อิสลามอันจะนำมาซึ่งหลักการวินิจฉัยเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์แห่งยุคสมัย อันไม่ขัดกับหลักดั้งเดิมของพระบัญญัติ
14.2.3 อิสลามกับปัญหาปัจจุบัน
          ปัญหาในปัจจุบันนั้น มีทั้งปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐปัญหาในระบอบการปกครองตามลัทธิต่าง ๆ ที่ได้เคยเสนอต่อมนุษย์และนำมาใช้กันแล้วแต่ก็ไร้ผลปัญหาลัทธิเศรษฐกิจซึ่งก็ได้นำมาใช้กันแล้วในบางประเทศแต่ก็ไร้ผลจนก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคม วัฒนธรรมติดตามมา อันเป็นผลร้ายต่อความระส่ำระสายของครอบครัวและชีวิตส่วนบุคคลได้ยับยั้งความก้าวหน้าของโลก ฉะนั้น อิสลามจึงได้เสนอหลักการใหม่แก่มนุษย์ชาติดังที่ได้กล่าวมานั้น
          1. อิสลามกับระบอบประชาธิปไตย
          ระบอบประชาธิปไตยเป็นผลของลัทธิทุนนิยม เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดที่ผู้ปกครอง หยิบยื่นมาให้แก่ผู้อยู่ใต้การปกครองในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยเนื้อแท้ของอิสลามไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นการหลอกลวงมหาชนไม่ใช่ทางของพระผู้เป็นเจ้าและมนุษยชาติ
          2. อิสลามกับลัทธิคอมมิวนิสต์
          อิสลามคัดค้านลัทธิวัตถุนิยมอันเป็นพื้นฐานของลัทธิเศรษฐกิจการเมืองของคอมมิวนิสต์ อิสลามไม่ยอมรับแนวคิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของลัทธิมาร์กซ์ โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงด้านอื่นๆ ในชีวิตของมนุษย์
          3. อิสลามกับจักรวรรดินิยม
          ความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างลัทธิทุนนิยมที่แปรสภาพเป็นนายทุนข้ามชาติในรูปแบบของการล่าอาณานิคมจักรวรรดินิยมจึงพัฒนามาเป็นจักรวรรดินิยมแผนใหม่ที่สัมพันธ์กันอย่างล้ำลึกทั้งเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การทหาร และการทูตมวลมนุษย์ตกอยู่ภายใต้ตาข่ายของมารร้ายทั้งด้านการปกครองและกลุ่มผลประโยชน์ของนายทุนดังกล่าวนั้น
          4. อิสลามกับปัญหาครอบครัว
          อิสลามถือว่าครอบครัวเป็นสถาบันหลัก และเป็นพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดสังคมที่ดีงามเพราะครอบครัวเป็นหน่วยแรกของสังคม อิสลามจึงส่งเสริมด้านการแต่งงานเพื่อที่จะได้เกิดสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นคุณค่าด้านจิตวิญญาณ อิสลามส่งเสริมการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนตามเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะให้ความสุขและความยุติธรรมได้
          5. อิสลามกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์
          คัมภีร์อัล- กุรอานส่งเสริมวิชาความรู้ทุกๆ แขนงที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ทั้งวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาศาสตร์สังคม ความรู้ดังกล่าวจะทำให้มนุษย์เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์แห่งความรู้ของศาสนา
14.3 ปรัชญาศาสนาคริสต์กับสังคมปัจจุบัน
                 14.3.1 คริสต์ศาสนาในปัจจุบัน
               ยุโรปได้มีประสบการณ์อันขมขื่นจากการแข่งขันกันทางศาสนา การแข่งขันระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลามนำไปสู่สงครามครูเสดอันยาวนานถึงเกือบ 5 ศตวรรษ สร้างความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก และความเสียหายอย่างมากมายแก่ทั้ง 2 ฝ่ายการแข่งขันกันระหว่างนิกายคาทอลิกกับนิกายโปรเตสแตนต์ของคริสต์ศาสนา ซึ่งต่างก็อ้างว่านับถือพระเยซูด้วยกันนำไปสู่สงครามศาสนาซึ่งแม้จะกินเวลาเพียง 30 ปี แต่ก็เป็นสงครามที่เข้มข้นมาก เพราะอยู่ใกล้ชิดกันมากยังความหายนะแก่มนุษยชาติไม่น้อยกว่าสงครามครูเสด ผลกระทบที่ยังยืดเยื้อต่อมาก็คือบาดแผลทางใจซึ่งฝังแน่นในจิตใจของผู้นับถือศาสนาดังกล่าวอย่างยากที่จะเยียวยาได้ง่าย ๆ มีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เสมอและอาจจะเป็นชนวนให้มีผู้หวังผลทางอื่น จุดขึ้นเป็นฉากบังหน้าได้ง่ายๆ จนอาจจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนควบคุมไม่ได้ไปก็ได้
          คริสต์ศาสนาในปัจจุบันมีสัญญาณส่อให้เห็นว่าได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และเรียกร้องให้แก้โดยการเจรจา (Dialogue) ได้มีขบวนการขึ้นมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขบวนการเล็กๆ ย่อย ๆ พัฒนามาจนเป็นขบวนการระดับโลก เพื่อปลุกเร้าความสำนึกในปัญหา ดังกล่าว จนผู้รับผิดชอบขององค์การศาสนาต้องจัดการอะไรบางอย่างลงไปเพื่อตอบสนองความสำนึกร่วมที่เกิดขึ้นแต่ความหวาดระแวงต่อกันก็ยังมีอยู่มาก เพราะมีคนจำนวนหนึ่งของทุกกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าการเจรจาดังกล่าวจะเป็นทางไปสู่ความสามัคคีหรืออาจจะเป็นเครื่องเอาเปรียบกันอย่างลึกซึ้ง
          จากการพบปะเจรจากันบ่อยๆ ระหว่างชาวคริสต์ชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ก็ได้ค่อย ๆ เห็นปัญหากันขึ้นมาว่า คริสต์ศาสนาควรได้ปรับปรุงการตีความหลักคำสอนของพระเยซู และปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมปัจจุบันจึงได้มีการถกปัญหาและแถลงการณ์มากมายเกี่ยวกับปัญหาที่สังคมปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาความยุติธรรมในสังคมและปัญหาสันติภาพของโลกเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเดิม ๆ ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจูงใจกันให้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นกันเช่นปัญหาเรื่องชีวิตส่วนตัวของชาวคริสต์ ชีวิตครอบครัว ชีวิตสังคม ชีวิตการเมือง เป็นต้น
          14.3.2 ศาสนาคริสต์กับวิถีชีวิตของชาวคริสต์
                   ในชีวิตส่วนตัวของชาวคริสต์นั้น ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นชาวคริสต์ในขั้นพื้นฐาน จะต้องเชื่อว่ามีพระเจ้าสูงสุดแต่เพียงองค์เดียว เป็นผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งและเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตมนุษย์จะต้องเชื่อว่าพระเจ้าองค์เดียวพิจารณาได้ใน 3 ลักษณะซึ่งแต่ละลักษณะมีสถานภาพเป็นบุคคล คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์จะต้องเชื่อว่า พระเยซู คือพระบุตรที่มาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อนำความรอดมาสู่มนุษย์ ความรอดหมายถึง การได้มีชีวิตพระเจ้าทั้งโลกนี้และตลอดนิรันดรในโลกหน้าคริสต์ชนที่เชื่อคำสอนดังกล่าวแล้ว  ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากบาปและไม่มีจิตใจผูกพันกับบาปจึงจะมีชีวิตพระเจ้าได้หากเพลี่ยงพล้ำทำบาปลงไปก็ให้ขอโทษ  ต่อพระเจ้าและชดใช้กรรมเสียก็จะคืนดีต่อพระเจ้าได้ การชดใช้กรรมหมายความว่าจะต้องคืนดีและชดใช้ความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์  ที่ได้รับความเสียหายจาการทำบาปนั้น ๆ ตลอดจนการทำความดีถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า เพื่อชดใช้การผิดน้ำพระทัยพระองค์ ผู้ที่หลีกเลี่ยงบาปได้สำเร็จคือไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นแล้ว ก็ให้มุ่งหน้าประกอบกรรมดีต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
            14.3.3 คริสต์ศาสนากับปัญหาของชาวคริสต์
                   อำนาจการเมืองในทรรศนะของชาวคริสต์  ชาวคริสต์เชื่อและถือเสมอมาว่า อำนาจการเมืองทั้งหลายมาจากพระเจ้า เพื่อให้ใช้อำนาจนั้นในทำนองครองธรรมสร้างความสงบสุขและพัฒนาสังคม
          การตื่นตัวของชาวคริสต์ต่อปัญหาสังคมปัจจุบัน
          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คริสต์ศาสนาในปัจจุบัน ตื่นตัวต่อปัญหาสังคมในปัจจุบันอย่างมากโดยเฉพาะในปัญหาเรื่องความอยุติธรรมในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ชาวคริสต์จำนวนมากได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสร้างความยุติธรรมดังกล่าวทั้งในด้านการเสนอในแง่ของหลักการและการนำหลักการไปปฏิบัติได้แก่ ในกรณีของปัญหาสังคมต่างๆ ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น เช่น การคุมกำเนิด สันติภาพบนพิภพการจัดระเบียบสังคมใหม่เป็นต้น
                   หน้าที่ของข้าราชการและนักการเมือง
          สันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ปราศัยในทำเนียบของประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2525 ว่า พระศาสนจักรให้เกียรติอย่างสูงแก่ผู้รับผิดชอบสาธารณประโยชน์และบริการประชาชน ผู้ใดได้รับมอบหมายจากประชาชนให้เป็นผู้นำชาติย่อมถือได้ว่ามีภารกิจสูงส่ง รวมทั้งผู้ที่ประชาชนหวังจะให้เป็นผู้ปฏิรูปและวางแผนให้สังคมมีสภาพสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อันจะค้ำประกันให้พลเมืองทุกคนไม่ว่าชาย หญิง หรือเด็กต่างก็ได้รับการดูแลให้มีชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีซึ่งอาจพิจารณาโดยสรุปได้ ดังนี้
          1. ข้าราชการต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ประชาชน
          2. ข้าราชการจะต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัว
          3. ข้าราชการพึงถือว่าได้รับมอบหมายจากประชาชนให้ปฏิบัติการเพื่อประชาชน
          4. ข้าราชการพึงถือว่าการได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเป็นเกียรติอันสูงส่ง
          การสังคมสงเคราะห์
          สันตะปาปาจอห์นปอล ที่ 2 ปราสรัย ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1981 (พ.ศ.2524) ที่ย่านต็อนโต อันเป็นย่านสลัมที่ใหญ่ที่สุดแห่งนครมะนิลา ทรงเน้นถึงคุณค่าของคนยากจนว่ามีฐานะและศักดิ์ศรีเป็นลูกของพระเจ้า ซึ่งบุคคลทั้ง  3  ฝ่ายคือคนจนคนรวยและพระศาสนจักรร่วมมือกับรัฐลาบกล่าวคือ
          คนจน ต้องตระหนักในศักดิ์ศรีและหน้าที่ของตนในการพัฒนาตน
                   คนรวย ให้เป็นคนจนทางจิตใจ ซึ่งหมายถึงคนรวยที่ไม่ยอมหยุดพักในการแบ่งปันผู้อื่น และนักการเมือง ซึ่งก็คือผู้มีอำนาจ การเมือง ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ตนได้รับมอบอำนาจ มาเพื่อดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม
          สันติภาพ

          สันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ได้เสนอเงื่อนไขของสันติภาพไว้ดังนี้ คือ ประการแรก คือพึงใช้หลักความยุติธรรม ประการที่สอง พึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประการที่สาม พึงใช้หลักขันติ เพื่อการสร้างสันติภาพโดยไม่ใช้ความรุนแรงประการที่สี่พึงใช้ความเมตตาโดยยึดถือเขาถือเรา แบ่งชั้นวรรณะและเชื่อชาติศาสนาตลอดจนลัทธิการเมืองประการสุดท้ายพึงเคารพวัฒนธรรมของกันและกันอย่างจริงใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น