วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความคิดพื้นฐานของปรัชญาการเมืองในกรีกโบราณ

ความคิดพื้นฐานของปรัชญาการเมืองในกรีกโบราณ
2.1.1  ความคิดพื้นฐานของปรัชญาการเมืองในกรีกโบราณ (ความยุติธรรม)
            1.  ชาวกรีกให้เหตุผลแสวงหาสิ่งสากล 
          ความคิดทางปรัชญาการเมืองตะวันตกเริ่มขึ้นในกรีกโบราณ ปรัชญาการเมืองด้วยเหตุผลกรีก อธิบายว่า  ไม่ใช่อาศัยความเชื่อในสิ่งที่พ้นขอบเขตของเหตุผล เช่น พระเจ้า เทพเจ้า แม้ชาวกรีกจะเชื่อว่าเทวดาเทพเจ้ามีอำนาจเหนือมนุษย์  แต่ชาวกรีกไม่ยอมปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปตามยถากรรม
          การอธิบายปรัชญาด้วยเหตุผล  กรีกไม่ได้หยุดอยู่ที่ประสาทสัมผัสคือ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  สัมผัส  แต่ได้อธิบายถึงสภาวะสากลหรือนามธรรม  เช่น  ความยุติธรรมคืออะไร  ?
          ในระบอบการปกครองปราชญ์กรีกจะไม่ถามว่ารัฐใดปกครองดีที่สุด  แต่จะถามว่าการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร 
            2.  แนวความคิดเรื่องพลเมือง 
          ชาวกรีกจะเชื่อฟังตัวบทกฎหมายมากกว่าตัวบุคคล 
ผู้นำ  การคิดปัญหาโดยเหตุผลจนถึงที่สุด  กรีกทำได้ถึงขั้นแยกตัวเองออกจากปัญหามาเป็นผู้มองปัญหา  ความรู้สึกเรื่องคุณค่าทางปัจเจกชน  เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาทางความคิดทางการเมือง  ความคิดเรื่องพลเมือง กรีกต้องการเป็นพลเมืองที่มีเสรีภาพ  ต้องการสังคมที่คนมีส่วนร่วมการปกครอง
            3.  แนวความคิดเรื่องนครรัฐ 
          กรีกแบ่งออกเป็นรัฐอิสระเป็นจำนวนมาก  และสามารถตั้งปัญหาว่าการปกครองแบบใดดีที่สุดโดยอาศัยข้อมูลจากรัฐที่มีการปกครองแบบต่างๆ กัน  มักมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่เสมอ  ภาวการณ์เมืองแบบนครรัฐเป็นบ่อเกิดความคิดทางการเมือง  เพราะ
          3.1 รัฐเป็นแบบที่ปกครองตัวเอง  พลเมืองมีโอกาสพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชนว่าเหมาะสมหรือไม่
          3.2 รัฐมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  การเปลี่ยนแปลงเป็นข้อมูลในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง  เปรียบเทียบการปกครอง  แสวงหาการปกครองที่ดี
            4.  แนวความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจริยศาสตร์กับปรัชญา
            นครรัฐ  หรือ  โปลิส  มีลักษณะเป็นสังคมทางจริยธรรม 
          อริสโตเติล  ถือว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงตัวกฎหมายที่แบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ทางการปกครอง  หากเป็นเครื่องกำหนดลักษณะและวิถีชีวิตของพลเมืองไม่ใช่เพียงกรอบแห่งกฎหมายแต่เป็นศีลธรรม
          กรีกจะถามปัญหาว่า  รัฐควรดำเนินไปสู่จุดหมายอะไร อย่างไร แต่ไม่ถามถึง การแบ่งแยกอำนาจ  หรือรวมอำนาจ  ไม่ถามถึงสิทธิทางกฎหมาย  หรือการกระจายภาษี 
          จริยศาสตร์และปรัชญา  ตามความเห็นของกรีกไม่สามารถแยกออกจากกันได้  สังคมทางจริยะ  คือจุดมุ่งหมายทางจริยธรรมเป็นหลัก
            5.  แนวความคิดเรื่องความสอดคล้องกันระหว่างกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์
          กรีกมองจักรวาลว่าเป็นระบบมีเหตุผล  และเหตุผลนี้ก็ควบคุมกฎของสังคม  และดำเนินชีวิตที่ดีด้วยกฎธรรมชาติจึงต้องสอดคล้องกันกับกฎของมนุษย์ในสังคม  โดยแต่ละอย่างต้องมีลักษณะที่มีเหตุผลมีระเบียบในตัวเอง
          เพลโต  มีทรรศนะว่า  กฎธรรมชาติ  กฎหมาย  กฎศีลธรรมเป็นกฎอันหนึ่งอันเดียวกัน
          ความคิดเรื่องกฎธรรมชาติเริ่มต้นที่ไฮโอเนีย  อนักซาโกรัส เป็นผู้นำเข้ามาสู่เอเธนส์สมัยเพริเคลส  อาร์เคลาอุส  ลูกศิษย์ของอนักซาโกรัสเป็นครูของโสเกรติส  ได้สอนเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมและเป็นคนแรกที่แยกกฎธรรมชาติ 
2.1.2  ความคิดทางการเมืองของกรีก  สมัยโฮเมอร์  โซลอน  ไพธากอรัส
            1.  ความคิดทางการเมืองกรีกสมัยของโฮเมอร์
            ในสมัยโฮเมอร์ กรีกยังอยู่รวมกันเป็นชุมชนแบบเผ่า ผู้ปกครองมาจากการคัดเลือกของคนในเผ่า  โฮเมอร์  ผู้เขียนมหากาพย์อีเลียด  แสดงแนวความคิดที่เรียกว่า  ราชาธิปไตย  ซึ่งเชื่อว่ากษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยได้รับบัญชาจากพระเจ้า 
            2.  แนวความคิดทางการเมืองกรีกในสมัยของโซลอน
            โซลอน ถือว่าเป็นผู้วางรากฐานประชาธิปไตยของกรีก ในระยะนี้กรีกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมาก  เกิดการข่มขี่ขูดรีดค่าจ้างแรงงาน  ชนชั้นยากจนจึงเลือกโซลอนพ่อค้าที่มั่งคั่งเป็นผู้นำ  เพราะเห็นความสามารถครั้งเมื่อปลุกใจชาวเอเธนส์ยึดเกาะซาลามิส  คืนจากเมการา  เข้าได้รับการแต่งตั้งเป็น  อาร์ดอน  มีอำนาจตรากฎหมาย  แก้ปัญหาความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมโดยจัดตั้งศาลยุติธรรม เรียกว่า  เฮเลีย  และสภาสี่ร้อย  เน้น  ความเสมอภาคทางสังคม การเมือง  เศรษฐกิจ  และแนวความคิดทางจริยธรรมที่ผู้ปกครองมีหน้าที่คุ้มครองคนยากจนและอ่อนแอให้พ้นจากการกดขี่ของคนร่ำรวยที่แข็งแรงกว่า
          ในระยะเดียวกันการปลูกฝังจริยธรรมคือ  คำสอนขอแห่งเดลฟี  ได้แก่  หลักการรู้จักประมาณ  รู้จักความพอดี  และถือว่าทุกสิ่งมีขอบเขตจำกัด
            3.  ความคิดทางการเมืองกรีกสมัยไพธากอรัส
          ไพธากอรัส  เป็นนักคณิตศาสตร์  เข้าได้ใช้ความรู้นี้อธิบายเกี่ยวกับจักรวาล  ธรรมชาติ  จริยธรรม  และการเมือง  เช่น  ความยุติธรรมคือจำนวนที่คูณตัวมันเอง  หรือยกกำลัง  เป็นเลขที่จำนวนสมดุลที่สุด  รัฐที่ยุติธรรมต้องเป็นรัฐที่ทุกส่วนเท่ากันหรือเสมอภาคกัน  ความยุติธรรมคือความเสมอภาค  ซึ่งเพลโตนำความคิดนี้ไปใช้และได้แบ่งคนเป็น  3  จำพวก  คือ  1.พวกรักปัญญา  2. พวกรักเกียรติ  3.  พวกรักผลประโยชน์
2.1.3  แนวความคิดทางการเมืองกลุ่มโสฟิสต์
          โสฟิสต์ไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองโดยตรง  แต่เป็นขบวนการที่มีลักษณะกว้างขวางบางคนเป็น           นักตรรกศาสตร์  บางคนเป็นนักวาทวิทยา ฯ ความสำคัญของพวกโสฟิสต์เป็นครูสอนชาวกรีกให้มีความสามารถทางการเมือง  ลูกศิษย์คนมีเงินต้องการความรู้ของพวกโสฟิสต์เพื่อแก้คดีในศาล  หาเสียงเลือกตั้ง  ทรรศนะของพวกโสฟิสต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ  1.  โปรทากอรัส  2. แอนติฟอน
            1.  แนวความคิดของโปรทากอรัส
          โปรทากอรัสมีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะคำสอนที่ว่า  มนุษย์เป็นเครื่องวัดทั้งปวง  คำสอนนี้คนส่วนมากคิดว่าเขาเป็นปัจเจกชน  เขามีลักษณะที่ตรงกันข้ามและใกล้เคียวกับแนวความคิดเพลโต  โดยเฉพาะความยุติธรรมที่กำหนดมาจากเบื้องบน  แต่ต่างกันที่โปรทากอรัสอ้างพระเจ้า
          โปรทากอรัสได้แบ่งการพัฒนาการของมนุษย์อออกเป็น  3  ขั้น  คือ
          1). เป็นมนุษย์ในสภาวธรรมชาติรู้จักทำงานฝีมือและกสิกรรมแต่ยังไม่รู้จักชีวิตแบบพลเมืองและการเมือง
          2). การมีรัฐและการหาวิธีอยู่รวมกัน  แต่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์  เกิดความแตกแยก
          3). ซุส  ส่งเฮเมส  เป็นเทวทูตนำเอาความเคารพ  และยุติธรรมลงมาให้แก่มนุษย์ไว้เป็นหลักแห่งความเป็นระเบียบ
          รัฐแบบสุดท้ายเป็นสังคมที่ผูกพันกันด้วยทางจิตใจ  คือมีความยำเกรงและความยุติธรรมเป็นหลักใจ  ตามทรรศนะของโปรทากอรัส  กฎหมายจึงมาจากสวรรค์
            2.  แนวความคิดของแอนติฟอน
          แอนติฟอนเป็นนักวาทะ  เป็นผู้นำทางคณาธิปไตยในการปฏิวัติปี  411  ก่อนคริสต์ศักราช  ความเห็นทางการเมืองซึ่งตรงกับที่เพลโตได้กล่าวไว้ในการวิจารณ์โสฟิสต์  แอนติฟอนเขียนไว้ว่า
          ความยุติธรรมประกอบด้วยการไม่ละเมิดตัวกฎหมายใดๆ ของรัฐซึ่งตนเป็นพลเมืองอยู่........ ฯลฯ
          คำสอนของแอนติฟอน  นอกจากแยกกฎธรรมชาติกับกฎหมายแล้ว  ยังถือว่าดีชั่วไม่มี
2.1.4  แนวความคิดทางการเมืองของโสเกรติส
          โสเกรติสเป็นนักปราชญ์ฝ่ายที่โต้แย้งกับกับโสฟิสต์คนสำคัญๆ ผลการโต้แย้งทำให้โสเกรติสถูกประหารชีวิต  โสเกรติสไม่ได้เขียนหนังสือไว้รู้เรื่องของเขาจากลูกศิษย์คือเพลโต  และเซโนฟอนคนรุ่นเดียวกัน
          โสเกติส ยึดถือว่าความยุติธรรมได้แก่การกระทำตามที่กฎหมายตัดสิน และการยอมรับเช่นนี้ทำให้โสเกรติสยอมตายแทนที่จะหนี  การตายของโสเกรติสทำให้เพลโตมองว่า กฎหมายถ้าอยู่ในมือของคนไม่รู้จักความยุติธรรมที่แท้แล้วก็อาจทำลายคนดีๆ ได้ จึงได้แสดงทฤษฎีโจมตีการเมืองในลักษณะประชาธิปไตยอย่างรุนแรง  และเน้นการปกครองโดยบุคคลซึ่งเป็นนักปราชญ์มากกว่าจะยึดตัวกฎหมาย
          โสเกรติส เห็นว่า พลเมืองไม่มีสิทธิ์ดื้อแพ่งหรือละเมิดกฎหมายรัฐและการกระทำที่ถูกต้องหรือยุติธรรมคือการทำตามกฎหมายของรัฐ  ไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะผิดหรือถูก
2.2  อุตมรัฐและความยุติธรรมในปรัชญาการเมืองของกรีก
            2.2.1  อุตมรัฐและทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมของเพลโต
            เพลโตได้แสดงความสัมพันธ์ของวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยในการสร้างคน  สร้างรัฐ  อุตมรัฐหรือทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม  เป็นหนังสือสำคัญทางปรัชญาการเมืองของเพลโต  หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าจริยศาสตร์กับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้  แต่สอดคล้องกันยังวางอยู่บนรากฐานทางเมตตาฟิสิกส์  หรือทฤษฎีว่าด้วยความจริงอันเดียวกัน  นอกจากนี้เพลโตยังขยายขอบเขตการอภิปรายกล่าวถึงทฤษฎีการศึกษา  การจัดการปกครอง  เศรษฐกิจ  และสังคม  เพลโตได้แสงให้เห็นความสัมพันธ์ของวิชาแขนงต่าง ๆ อย่างชัดเจน  โดยเสนอปัญหาใหญ่  4  ปัญหาคือ
          1. คนดีคืออะไร  จะสร้างคนดีได้อย่างไร  ปัญหานี้เป็นจริยศาสตร์แท้ ๆ  คนจะดีได้ต้องผ่านกระบวนการของรัฐ 
          2. รัฐที่ดีคืออะไร  จะสร้างรัฐที่ดีได้อย่างไร  ปัญหานี้โยงความสัมพันธ์ระหว่างจริยศาสตร์กับการเมือง
          3. ความรู้ที่สูงที่สุด  ซึ่งคนจะเป็นคนดีต้องมีคืออะไร  ปัญหานี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าคนดีต้องรู้จักความดี  เพราะจุหมายของชีวิตคือการเป็นคนดี  ในแง่นี้จริยศาสตร์และการเมืองไปผูกพันกับทฤษฎีว่าด้วยความรู้
          4. รัฐจะนำพลเมืองไปสู่ความเป็นคนที่มีความรู้สูงสุด  ซึ่งได้แก่ความดีได้อย่างไร  ในการตอบปัญหานี้เพลโตเสนอว่าต้องอาศัยการศึกษา  ความคิดเพลโตก่อนที่จะมาพัฒนามากในจิตวิทยาของซิกมันด์  ฟรอยด์
          ทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมในอุตมรัฐ
          พวกโสฟิสต์อ้างว่าเป็นครูสอนคุณธรรมแก่คนหนุ่มชาวเอเธนส์  โสเกรติสถูกประหารด้วยข้อหาทำให้คนหนุ่มเสียคน  เพลโตแสดงให้เห็นว่า  คนที่รู้จักคุณธรรมที่แท้มีส่วนน้อยและต้องศึกษาอย่างบากบั่น  เพลโตเรียกวิชานี้ว่า  ไดเลคติค
          กรีกโบราณเชื่อว่ามนุษย์กับรัฐมีจุดหมายเดียวกัน  ชีวิตที่ดีเกิดขึ้นเพราะคนอุทิศตัวเพื่อรัฐ  แต่คำสอนนี้ถูกทำลายลงด้วยคำสอนพวกโสฟิสต์และซีนิค  ซึ่งเน้นปัจเจกชนทั้งคู่ 
          พวกโสฟิสต์ เน้นการหาประโยชน์ส่วนตัว  โดยเฉพาะความเชื่อว่าความยุติธรรมได้แก่ผลประโยชน์ส่วนตัวผู้ปกครอง
          พวกซีนิค  เน้นการละทิ้งทรัพย์สินและสังคม
          เพลโต เป็นผู้นำเอาทั้งสองอย่างมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง  นั่นคือการค้านปัจเจกนิยม  แต่ต้องการสร้างสังคม  ที่ไม่ใช่สังคมที่เน้นเศรษฐกิจเหมือนปัจจุบัน
          2.2.2  ความยุติธรรมตามทรรศนะของเซฟาลุส  ทราไซมาคุส  โกลคอน  อดิแมนตุส
            ความยุติธรรมตามทรรศนะของเซฟาลุส
          เป็นทรรศนะแบบประเพณีนิยม  เซฟาลุสคิดว่าความยุติธรรมคือ  การพูดความจริงและใช้หนี้แก่เจ้าหนี้  โสเกรติสค้านว่าการใช้หนี้บางครั้งก็ไม่ยุติธรรม  โพลีมาร์คุสบุตรชายเซฟาลุสเถียงแทนพ่อโดยนิยามใหม่ให้รัดกุมว่า  ความเที่ยงธรรมคือการทำดีต่อเพื่อน และทำชั่วต่อศัตรู  โสเกรติสแย้งว่า  การทำชั่วต่อศัตรูไม่ถูกต้องเพราะการทำชั่วเป็นการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเลวลง  ไม่ใช่หน้าที่ทำดี  คนดีต้องไม่ให้ร้าย  และคนที่เที่ยงธรรมเป็นคนดี
            ตามทรรศนะของเซฟาลุสและโพลีมาร์คุสเห็นลักษณะ  2  ประการ
          1. การนิยามความยุติธรรม  คือความยุติธรรมที่ปฏิบัติกัน  เป็น  อย่างไร  เมื่อเผชิญปัญหาว่าความยุติธรรมที่ปฏิบัติกันเป็นสิ่งที่  ควร  หรือไม่
          2. ทรรศนะประเพณีนิยม พูดถึงเฉพาะเรื่องปัจเจกชนไม่ได้กล่าวถึงความยุติธรรมฐานะเป็นคุณธรรมของรัฐ
            ความยุติธรรมตามทรรศนะของทราไซมาคุส
          ทราไซมาคุส  ความยุติธรรมไม่ใช่คุณธรรมของปัจเจกชน  แต่เป็นคุณธรรมของสังคม  ทรรศนะของทราไซมาคุสเป็นแบบพวกหัวรุนแรง  ความยุติธรรมมีไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ปกครอง
            ตามทรรศนะของทราไซมาคุสแยกเป็น  2  ประเด็น
          1. ถือเอาผลประโยชน์ของผู้แข็งแรงเป็นหลักในการกำหนดมาตรฐาน  หลักการของทราไซมาคุสคือ  อำนาจคือธรรม  ผู้ปกครองมักออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง  ได้ประโยชน์จากกฎหมายนั้น  เป็นความยุติธรรม 
          2. หลักความยุติธรรมมีลักษณะสัมพันธ์ คือ นอกจากเปลี่ยนไปตามผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองตามข้อแรก ยังเป็นไปได้ว่าความยุติธรรมของคนทั่วไปอาจจะไม่ใช่ความยุติธรรมของผู้ปกครองก็ได้
          หลักการของทราไซมาคุส  เน้นว่าทุกคนควรทำในสิ่งที่ตนพอใจและสามารถทำได้ที่สุด  ดังนั้น  อำนาจเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหาเพื่อจะหาประโยชน์ใส่ตนมากที่สุด
          เพลโต แย้งเหตุผลของทราไซมาคุสที่ว่า  1. รัฐบาลปกครองเพื่อประโยชน์ตนเอง  2. ความไม่ยุติธรรมดีกว่าความยุติธรรม  และชี้ให้เห็นว่าความถูกต้องเป็นสิ่งที่กลับกันกับความคิดของทราไซมาคุส คือ  ผู้ปกครองที่แท้จริงจึงต้องใช้ศิลปะในการปกครองเพื่อผู้ใต้ปกครองหรือพลเมือง  ศิลปะการปกครองกับผลประโยชน์ที่ได้จากการปกครองเป็นคนละเรื่อง  แต่ถ้าผู้ปกครองยอมปกครองก็เพราะได้เงินหรือเกียรติยศ  เป็นศิลปะการหาเงินไม่ใช่การปกครอง  คนดีไม่ปรารถนาเงินและเกียรติทั้งยังเห็นว่าการมุ่งหาเงินและเกียรติเป็นสิ่งน่าละอาย
          ในด้านความสุข  เพลโตได้ยกเอาหน้าที่มาอธิบาย  หน้าที่ของวิญญาณคือชีวิตและจุดหมายคือชีวิตที่ดีที่สุดหรือความยุติธรรม  ในการโจมตีทรรศนะของทราไซมาคุสนั้นในเรื่องที่ว่าความยุติธรรมคือผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรง  หรืผู้ปกครอง
            ความยุติธรรมตามทัศนะของโกลคอน
          โกลคอนมีทรรศนะว่า  ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปตามประเพณีไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์    เขาเห็นว่าในสภาวะธรรมชาติมนุษย์เดือดร้อนเพราะความไม่ยุติธรรมโดยไม่มีทางผ่อนปรน  มนุษย์ไม่สามารถทนต่อสภาพนี้ได้มีผลตามมา  3  ประการ
          1. คนอ่อนแอรู้สึกว่าตนรับความเดือดร้อนจากความไม่ยุติธรรมมากกว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร  จึงสร้างพันธะว่าจะไม่สร้างความเดือนร้อนแก่กัน
          2. ในการทำพันธะสัญญานี้มนุษย์ออกกฎหรือประเพณีแห่งความยุติธรรมขึ้น
          3. ผลการออกกฎหมายทำให้คนคนละทิ้งสัญชาตญาณคือการกระทำตามอำเภอใจยินยอมทำตามอำนาจกฎหมาย  ความยุติธรรมนี้เป็น  ยุคแห่งความกลัว  ความจำเป็นของผู้อ่อนแอบังคับให้คนแสวงหาความยุติธรรม  นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ว่า  เราจะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมอยู่ที่ผลการกระทำหาใช่อยู่ที่ว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดีในตัว
            ความยุติธรรมตามทรรศนะของอดิแมนตุส
          เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด  มนุษย์ควรแสดงความยุติธรรมไว้เพียงภายนอก  ส่วนเนื้อแท้ควรเป็นคนไม่ยุติธรรม  ความไม่ยุติธรรมยังประโยชน์  ชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่มนุษย์
            2.2.3  ความยุติธรรมตามทรรศนะของเพลโต
          ความเที่ยงธรรมหรือความยุติธรรม อาศัยการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์และผลต่อสังคมเป็นหลัก เพลโต  ก็ถือหลักความสัมพันธ์ทังสองอย่างนี้และยังถือว่าความยุติธรรมในตัวบุคคลเป็นที่มาของความยุติธรรมในรัฐ
                เพลโต ย้ำว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นที่มาของการปกครอง เน้นการเลี้ยงดูทารกและการศึกษาอบรมพลเมืองอย่างเข้มงวดมาก  เพราะการอบรมพลเมืองให้มีลักษณะเป็นไปตามความต้องการไม่ได้
การสร้างรัฐให้เป็นไปตามความต้องการก็ไม่ได้ด้วย  องค์ประกอบสำคัญของรัฐในอุดมคติของเพลโต
            1. องค์ประกอบทางเศรษฐกิจ
          เพลโตเริ่มต้นสร้างการกล่างถึงองค์ประกอบเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อชีวิต แบ่งหน้าที่แต่ละคนถนัดหรือเหมาะสมแก่หน้าที่นั้น ตามความถนัด ได้แก่ ความคิดเรื่อง เอกภาพ ความกลมกลืน ความยุติธรรม  ความถนัดเฉพาะและหน้าที่เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น
            2. องค์ประกอบทางการทหาร
          วิถีชีวิตแบบพวกซีนิค  คือพวกที่ไม่แสวงหาความสุขทางวัตถุ  เพลโตเยาะเย้ยว่าชีวิตแบบดังกล่าวว่าไร้ปัญญา  คำสอนแบบโสฟิสต์  เพลโตเยาะเย้ยว่า เป็นชีวิตแบบหมูไม่ใช่ชีวิตอารยะชน
          โสเกรติส  บรรยายว่ารัฐที่สมบูรณ์พูนสุขนั้น  เพราะคนในรัฐไม่ต้องการเพียงอยู่ได้  แต่ต้องการอยู่ดี  รัฐมีพลเมืองมากขึ้นการแก่งแย่งมากขึ้น การค้ากับต่างแดนมากขึ้น โจรผู้ร้ายการรุกรานจากภายนอกก็ต้องมี  จึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญที่สองคือ ทหาร  ซึ่งทำหน้าที่รักษาระเบียบและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่รัฐ
          ธรรมชาติของผู้ที่เหมาะแก่การเป็นทหารต้องมี ประสาทไว เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  แข็งแรง กล้าหาญ ไม่หวาดกลัว น้ำใจสูง  ไม่ทำร้ายพลเมือง หรือทำร้ายซึ่งกันและกัน  รักความรู้ สุภาพต่อมิตร 
            3. องค์ประกอบทางปัญญา
          ความแตกต่างระหว่างทหารกับผู้ปกครองคือ  ทหารมีความเข้าใจ ความรู้ ประสบการณ์ คือ  แยกมิตรได้  เพราะความคุ้นเคย  รักมิตรเกลียดศัตรู  ส่วนผู้ปกครองมีความเข้าใจในหลักการ  ไม่ใช่แค่แยกมิตร  ศัตรู  แต่ต้องรู้ว่าจะแยกมิตรหรือศัตรูด้วยหลักเกณฑ์อะไร
          เพลโตเห็นว่า  ความต้องการทางวัตถุทำให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ  ความมีน้ำใจทำให้เกิดการรวมตัวของทหาร  และเหตุผลทำให้คนรวมตัวกันทางการเมืองด้วยความเข้าใจและเกิดความรัก  เพราะเหตุผลจะทำให้  ทหารเข้าใจว่าตนมีหน้าที่ป้องกันพลเมือง  ผู้ปกครองเข้าใจว่าตนมีหน้าที่ปกครอง  ในแง่นี้เพลโตเห็นว่า  องค์ประกอบทางปัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญและสูงที่สุดในรัฐ
            4. การหาความยุติธรรม
            ในประเด็นนี้เพลโตเริ่มด้วยคุณธรรม  4  ประการ  1. ความฉลาด  2. ความกล้าหาญ  3. ความพอดีรู้จักประมาณ  4. ความยุติธรรมหรือเที่ยงธรรม
            วิจารณ์ความคิดเรื่องความยุติธรรมของเพลโต
          1. เพลโตมีความเห็นเช่นเดียวกับนักศาสนาคือ  การกำหนดคุณค่าทางสังคมต้องอาศัยการวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์  รู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร และที่อันตรายที่สุดคือ  ถ้าวิเคราะห์ธรรมชาติมนุษย์ผิด  ค่ากำหนดขึ้นจะผิดตามไปด้วย
          2. เมื่อเพลโตกำหนดว่าอะไรมีธรรมชาติอย่างไร  ก็กำหนดหน้าที่กำกับด้วย 
          3. เพลโตถือว่าความยุติธรรมใจจิตกับรัฐเป็นสิ่งเดียวกัน องค์ประกอบของคนกับรัฐให้สอดคล้องกันเรียกว่า  ความยุติธรรม  ความยุติธรรมในรัฐเป็นความยุติธรรมภายนอก  อาจสร้างกฎหมายบังคับได้  แต่ความยุติธรรมในจิตใจนั้นกฎหมายบังคับไม่ได้
          4. การที่เพลโตเชื่อว่าความยุติธรรมในบุคคลกับรัฐเป็นสิ่งเดียวกัน  ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นความบกพร่องที่จำกัดชีวิตส่วนบุคคล
          5. เพลโตใช้สูตร  ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตน  และรับสิ่งที่ตนควรได้รับตามที่เหมาะสมแก่ธรรมชาติของตน
          6. สูตรในข้อ  5  นับเป็นการกำหนดสิทธิของบุคคล  โดยถือว่าสิทธิตามธรรมชาติของแต่ละคลต่างกัน  คนที่เป็นนักปราชญ์มีสิทธิ์ที่จะศึกษาสูง ๆ แต่ไม่มีสิทธิตามความสุขทางวัตถุ

          7. เพลโตสนใจหน้าที่ที่พลเมืองมีต่อรัฐมากกว่าเสรีภาพที่รัฐให้แก่พลเมือง การกำหนดชนชั้นเป็นการยอมรับความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น