วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แนวคิดทางการเมืองสมัยกลาง


แนวคิดทางการเมืองสมัยกลาง

๑.การเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองโรมัน
กฎหมายโรมันให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในเรื่องความคิด  ความเชื่อถือ  และการปฏิบัติตามความเชื่อถือของแต่ละบุคคล  และแต่ละกลุ่มชน  โดยมีเงื่อนไขแต่เพียงว่า  จะต้องรับรู้อำนาจสูงสุดของจักรพรรดิ  และไม่ก่อกวนความสงบสุขของมหาอาณาจักร  พระเยซูถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหา  ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แข่งอำนาจกับจักรพรรดิ  แต่ทว่าข้อกล่าวหานี้มาจากกลุ่มชาวยิวที่ต้องการกำจัดพระเยซู  ข้าหลวงโรมันอนุโลมตามอย่าง
ไม่เต็มใจ  เรื่องจึงเงียบหายไปในกระแสการเมืองโรมัน  สาวกของพระเยซูทำการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูได้อย่างเงียบ ๆ  ในมหาอาณาจักรโรมัน  อุปสรรคส่วนมากจะมาจากชาวยิวด้วยกันที่มองศาสนาใหม่ด้วยสายตาที่รังเกียจ  ชนชาติอื่นต้อนรับข่าวดีด้วยความชื่นชม  คนชั้นต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกทาสรู้สึกว่าเป็นการปลดปล่อยแลยทีเดียว  บ้านใดทั้งนายทั้งทาสยอมรับข่าวดี  ทาสจะไม่มีฐานะเป็นทาสอีกต่อไป  แต่จะรับใช้และจงรักภักดีต่อนายต่อไปอย่างคนในครอบครัว  กลายเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการแสวงหาวิถีชีวิตใหม่ในขณะนั้น  ในที่สุด เซนต์ปีเตอร์ และ เซนต์ปอล  ก็ร่วมมือกันตั้งกลุ่มคริสต์ชนในกรุงโรม  อันเป็นนครหลวงของมหาอาณาจักรโรมันได้สำเร็จก่อนปี  ค.ศ.๖๐  ซึ่งได้เกิดไฟไหม้กรุงโรมครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก  ความเสียหายและความเดือดร้อนมีมากมายเหลือเกิน  ในเมื่อหาต้นเพลิงไม่ได้  ที่ปรึกษาของจักรพรรดิเนโร  ซึ่งมีชาวยิวร่วมอยู่ด้วย  จึงแนะนำให้โยนความผิดให้ชาวคริสต์เป็นแพะรับบาป  ศาสนาคริสต์จึงเป็นศาสนาต้องห้ามในมหาอาณาจักรโรมันตั้งแต่บัดนั้น  ผู้ใดฝ่าฝืนอาจได้รับโทษถึงขึ้นประหารชีวิต  มีชาวคริสต์จำนวนหนึ่งถูกประหารชีวิต  และได้รับการยกย่องจากพวกเดียวกัน ว่าเป็นมรณสักขี  (Martyr)  หรือ นักบุญวีรชน นั่นเอง  ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ  จำนวนคริสต์ชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ.๓๑๓  มีผู้คำนวณว่าคริสต์ชนในมหาอาณาจักรโรมันถึงประมาณ  ๑๐ ซึ่งต้องนับว่าเป็นศาสนาที่มีสมาชิกมากกว่าศาสนาอื่น ๆ ในมหาอาณาจักรโรมันขณะนั้น  ทั้ง ๆ ที่เป็นศาสนาต้องห้าม  แม้แต่ภรรยาของแม่ทัพคอนสแตนติน ก็นับถือศาสนาคริสต์ด้วย  ครั้นแม่ทัพคอนสแตนตินได้เป็นจักรพรรดิ  ก็ประกาศยกเลิกการห้ามนับถือศาสนาคริสต์ ในปี ค.ศ.๓๑๓  ทรงหันมาบำรุงศาสนาคริสต์  เพราะทรงเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของมหาอาณาจักร  ต่อมา จักรพรรดิเธโอโดซีอุส  (Theoleoius)  ก็ทรงประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ  ตลอดยุคกลางจึงถือได้ว่าชาวยุโรปทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์เพียงศาสนาเดียว  ศาสนาคริสต์จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมและการเมืองของยุโรปตลอดยุคกลางด้วยประการฉะนี้

๒.เซนต์  ออกัสติน  (Saint  Augustine)
            ๒.๑.ชีวประวัติของเซนต์  ออกัสติน
            เซนต์  ออกัสติน  เกิดในครอบครัวข้าราชการโรมันที่มีอันจะกินและมีกองมรดกที่เมืองตรากัสเต  (Tragaste)  บิดานับถือศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism)  ส่วนมารดานับถือศาสนาคริสต์  มารดาพยายามอบรมให้นับถือศาสนาคริสต์  แต่ก็ไม่ได้ผล  ออกัสตินเลือกเรียนวรรณคดีละติน  เน้นหนักทางวาทศิลป์  จึงอ่านงานนิพนธ์ของซิเซโร (Cicero)  ซึ่งเป็นนักวาทศิลป์เอกของโรมันอย่างจับจิตจับใจ  คล้อยตามวาทศิลป์ของผู้แต่ง  จึงตัดสินใจจะมุ่งแสวงหาปรีชาญาณเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด  เรียนจบหลักสูตรด้วยคะแนนดีเด่น  จึงได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวาทศิลป์ที่นครคาร์เทช
            ระหว่างเป็นอาจารย์อยู่นั้น  สนใจและเข้าเป็นสมาชิกของศาสนามานี  (manichaeism)  เพราะเห็นว่า  เหตุผลดีในปัญหาเรื่องความดีความชั่ว  ออกัสติน เป็นสมาชิกของศาสนามานี อยู่  ๙  ปี  ก็รู้สึกผิดหวัง  เพราะรู้สึกว่าความคิดดังกล่าวไม่อาจนำไปสู่ปรีชาญาณ  จึงหันเข้านับถือ ลัทธิวิมัตินิยม  (scepticism)  ซึ่งสอนให้ตั้งข้อสงสัยไว้มาก ๆ อะไรที่ไม่แน่ใจจริง ๆ ก็ให้สงสัยไว้ก่อน  อย่าตกลงปลงใจเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยยึดถือหลักว่า  ความสงสัยเป็นทางนำไปสู่ปรีชาญาณ  ออกัสติน ย้ายไปเปิดสำนักที่กรุงโรมันเป็นแหล่งที่ลัทธิวิมัตินิยมเฟื่องฟูมากที่สุด  ปรากฏว่า  บรรดานักศึกษาของออกัสตินซึ่งถือลัทธิวิมัตินิยมนั้น  ไม่สู้จะเกรงใจอาจารย์  ความนับถืออาจารย์ไม่สู้ดี  ค่าเล่าเรียนก็ไม่ยอมชำระ  ออกัสติน จึงไปเปิดสำนักสอนวาทศิลป์ที่นครมีลัน  ทางตอนเหนือของอิตาลีซึ่งประชาชนนับถือศาสนาคริสต์มาก  โดยหวังว่าจะได้ลูกศิษย์ที่นับถืออาจารย์และมีความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่าในกรุงโรม  ออกัสตินได้รู้จักปรัชญาเพลโตและโปรตีนุสโดยคำแนะนำของอัมโบรซีอุส  ซึ่งเป็นประมุขของชาวคริสต์ในนครมีลัน  แต่ก็รู้สึกว่าไม่ลึกซึ้งพอ  จึงได้เข้าเป็นสมาชิกของศาสนาคริสต์  ใช้มรดกทั้งหมดจัดตั้งสำนักค้นคว้า  สอนและฝึกฝนปรีชาญาณ  มั่นใจว่าจะสามารถอธิบายคำสอนของคริสต์ศาสนาด้วยปรัชญาของเพลโต  ตามวิธีการของโปลตีนุสได้เป็นผลสำเร็จ  ออกัสติน เขียนหนังสือไว้มากมายเพื่อเสนอผลงานของตนเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมใจได้พัฒนาต่อ
            ๒.๒.ปรัชญาการเมืองของเซนต์  ออกัสติน
            เซนต์ ปอล อธิบาย สังคมมนุษย์ในทำนองลึกลับและพอใจกับบรรยากาศที่ลึกลับ  เช่น กล่าวว่าสังคมของชาวคริสต์เป็นรหัสยกาย  (mystical  body)  หรือกายลึกลับของพระเยซู  ออกัสติน  ไม่พอใจที่จะหมกมุ่นอยู่กับความลึกลับโดยไม่จำเป็น  จึงได้พยายามศึกษาปรัชญา เพื่ออธิบายสิ่งลึกลับให้แจ่มแจ้งขึ้นเท่าที่จะได้  และการตีความของออกัสติน ก็ได้รับความนิยมเชื่อถือต่อมาอย่างกว้างขวางในหมู่คริสต์ชน
            ออกัสติน เห็นว่า สังคมเป็นสนามประลองยุทธ์  เพื่อให้คนดีได้พิสูจน์ความดีของตน  และคนเลวก็จะได้รู้ความเลวของตนเช่นกัน  คนดีพิสูจน์ความดีของตนเพื่อมีความดีความชอบสมควรได้รับชีวิตพระเจ้าตลอดนิรันดร์  ส่วนคนเลวรู้ความเลวของตนเพื่อจะได้กลับเป็นคนดีประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ  จึงมีจุดหมายในแผนการของพระเจ้า  ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ  เพราะพระเจ้าผู้ทรงเป็นอำนวยการยอดเยี่ยมย่อมจะผูกเรื่องได้แนบเนียนที่สุด  พระองค์อาจจะดึงความดีออกจากเหตุการณ์ร้ายได้อย่างที่มนุษย์เราคาดไม่ถึง  ผู้มีปัญญาน้อยจึงอาจจะไม่เห็นสาเหตุและเหตุผลของเหตุการณ์บางอย่าง  ดังนั้น  หากเราไม่เข้าใจเหตุการณ์ใดในสังคมและประวัติศาสตร์  จึงควรวางใจในพระเจ้าไว้ก่อน  แล้วค่อยแสวงหาความเข้าใจเอาเท่าที่สามารถ
            ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า  สังคมมนุษย์  มี  ๒  ประเภท  ออกัสติน  เรียกว่า  นครของพระเจ้า  (the  city  of  god)  และนครของโลกนี้  (the  city  of  this  world)  นครของพระเจ้า  ได้แก่  กลุ่มคนดีทั้งโลกและนครของโลกนี้  ได้แก่  กลุ่มคนเลวทั้งโลก  สองนครดังกล่าวจึงไม่มีเส้นแบ่งเขต  แต่ทว่าอยู่ปะปนในสังคมเดียวกัน  จึงยากที่จะเห็นหรือรู้ได้ว่าใครสังกัดอยู่ในนครใด  หรือเป็นคนประเภทใด  ออกัสติน ชี้ให้เห็นว่า แม้ในหมู่ชาวคริสต์ก็มีผู้สังกัดในนครของโลกนี้  และในศาสนาอื่นก็มีผู้สังกัดในนครของพระเจ้า
            ในเมื่อมนุษย์ถูกสร้างให้อยู่ร่วมกันในสังคม  และสังคมเป็นสนามสร้างความดีสำหรับคนดี  และเป็นสนามแสวงหาความดีสำหรับคนเลว  จึงจำเป็นต้องมีอำนาจที่สามารถควบคุมให้สังกัดอยู่ในระเบียบชนิดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสวงหาพระเจ้าตามวิถีทางของตน
            อำนาจทุกอย่างมาจากพระเจ้า  แต่เดิมพระเจ้าได้ประทานอำนาจแก่ประมุขของชาติต่าง ๆ เพื่อรอคอยอาณาจักรอันสมบูรณ์แบบ  ในเมื่อพระเยซูได้เสด็จมาสร้างอาณาจักรอันสมบูรณ์แบบให้แล้ว  สำหรับดินแดนที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์  อำนาจทั้งหมดจึงมาจากพระเจ้าโดยผ่านทางผู้แทนของพระเยซู  เมื่ออนารยชนรุกรานมหาอาณาจักรโรมัน  ปลันสดมภ์  สร้างความเดือดร้อน  จนครั้งหนึ่งบุกเข้าปล้นและเผากรุงโรม  ได้มีผู้ตั้งปัญหาถามว่า  พระเจ้าไปอยู่เสียที่ไหน  ออกัสติน ก็ย้อนให้ว่า  นั่นเป็นเพราะว่าพลเมืองโรมันรับนับถือศาสนาคริสต์ช้าไป  เป็นสัญญาณเตือนให้รีบจัดการเสีย  เพื่อนครของพระเจ้าอันเป็นอาณาจักรแห่งความรักและสันติภาพจะได้ตั้งมั่นคงขึ้น  ทั้งนี้  เป็นความหวังของออกัสติน  ว่าหากพลเมืองโรมันถือศาสนาคริสต์กันอย่างทั่วถึงแล้ว  มหาอาณาจักรก็จะเป็นนครของพระเจ้า  ที่เป็นแกนกลางและเป็นตัวอย่างให้กับที่อื่น ๆ ต่อไป
            อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่ผู้ปกครองไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์  ย่อมจะไม่รับรู้อำนาจของพระเยซู  คริสต์ชนจะต้องรับรู้และยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครองของตน  โดยถือว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าเช่นกัน  แม้แต่ทาส หากนับถือศาสนาคริสต์  ออกัสติน ก็กำชับให้รับรู้อำนาจของนายของตนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์  โดยถือว่า เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าเช่นกัน  หากเจ้านายสั่งผิดศีลธรรม  ปฏิบัติไมได้  คริสต์ชนพึงขัดขืนด้วยวิธีอหิงสาเท่านั้น  ไม่ใช่โดยใช้ความรุนแรงตอบโต้

๓.เซนต์  โธมัส  อาควีนัส  (Saint  Thomas  Aquinas)
๒.๑.ชีวประวัติของเซนต์  โธมัน  อาควีนัส
เซนต์  อาควีนัส  เป็นชาวอิตาลี  เกิดในปราสาทแห่งรอคคาเซ็คคา  (Roccasecca)  ใกล้เนเปิลส์หรือนาโปลี  (Napoli)  บิดาเป็นเจ้านครในตำแหน่งเคาน์แห่งอาควีโน  สืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าเผ่าเยอรมันที่บุกรุกเข้ามายึดครองอิตาลี  มารดาสืบเชื้อสายมาจาก โรแบรต์  กิสการ์ด  ชาวนอร์มังดี  ที่ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ปกครองอิตาลีภาคใต้ตั้งแต่นครโรมาไปจนถึงซิซิลี
เมื่อ อาควีนัส อายุได้ ๕ ขวบ  บิดานำไปฝากเป็นลูกวัด  ณ อารามฤาษีคณะเบเนดิกติน  บนภูเขามอนเตคัสซิโน  (Montecassino)  ซึ่งเป็นอารามที่มีทรัพย์สินที่ดินมาก  บิดาหวังว่าเมื่อได้คลุกคลีกับชีวิตในอารามนี้แต่ยังเยาว์เช่นนี้  อาควีนัส จะชอบและสมัครใจเป็นฤาษีในอารามแห่งนี้  ตัวท่านและบุตรชายหัวปีซึ่งจะสืบตำแหน่งท่านต่อไป  จะช่วยสนับสนุนให้ได้เป็นอธิการแห่งอารามนี้โดยเร็วที่สุด  การได้อยู่ในอารามแห่งนี้  มีส่วนช่วยให้อาควีนัสรู้จักซาบซึ้งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  ในศิลปกรรมและดนตรี  ปี ค.ศ.๑๒๓๙  กษัตริย์เฟรเดริโก ที่ ๒  แห่งซิซิลี  รับสั่งให้ปิดอารามแห่งนี้  เนื่องจากไม่พอพระทัยที่ถูกสันตะปาปาคว่ำบาตรการรวมอิตาลีกับเยอรมัน  อาควีนัส จึงต้องกลับบ้าน ขณะมีอายุได้ ๑๔ ปี
ในปี  ค.ศ.๑๒๕๐  อาควีนัส ได้บวชเป็นบาทหลวง  ในขณะเดียวกัน  ทางบ้านก็ประสบเหตุร้าย  เพราะเข้าข้างสันตะปาปาต่อต้านกษัตริย์ เฟรเดริโก  จึงถูกโจมตีปราสาทพังพินาศ  พี่ชายคนรองถูกประหารชีวิต  สันตะปาปา ดำริที่จะตอบแทนโดยเสนอแต่งตั้งให้เป็นอธิการแห่งมอนเตคัสซิโน  และเป็นอัครสังฆราชแห่งนาโปลี  แต่อาควีนัส ปฏิเสธ  เพราะรักวิชาการมากกว่าอำนาจ
ในปี  ค.ศ.๑๒๕๙  สันตะปาปาอาเล็กซ์ซานเดร์ ที่ ๔  เรียกตัวอาควีนัสไปเป็นวิทยากรประจำสำนักสันตะปาปา  จึงต้องย้ายที่ไปตามความผันผวนของสำนักสันตะปาปาในขณะนั้น  ปลายปี  ค.ศ.๑๒๖๙  อาควีนัส เข้าเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยปารีส  ทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนแท้ของอริสโตเติลและต่อต้านพวกหัวเก่าในขณะเดียวกัน
ในปี  ค.ศ.๑๒๗๓  อาควีนัส  ได้รับเชิญจากสันตะปาปาเกรโกรีอุส ที่ ๑๐  ให้เข้าร่วมสังคายนาสากลที่เมืองลีออง ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส  ในปี ค.ศ.๑๒๗๔  ท่านออกเดินทางไปได้แค่ ฟอสซาโนวา (Fossanova)  ใต้กรุงโรมนิดหน่อย  ก็ล้มป่วยลงกะทันหันและถึงแก่มรณภาพ ในวันที่  ๑๗  มีนาคม  ค.ศ.๑๒๗๔  รวมอายุได้  ๔๙  ปี

๒.๒.ปรัชญาการเมืองของเซนต์  โธมัน  อาควีนัส
ปัญหาสำคัญที่สุด ที่อาควีนัสจะต้องขบคิด  คือ  ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร  ผู้ที่มีศรัทธาต่อศาสนามักจะโอนเอียงไปในทางยกย่องศาสนาเหนืออาณาจักร  แต่ศาสนจักรก็ไม่สามารถควบคุมอาณาจักรได้  เพราะไม่มีอำนาจเพียงพอ  ยิ่งกว่านั้น  อาณาจักรมักจะถือโอกาสแทรกแซงเข้ามาใช้ศาสนจักรเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างฐานอำนาจอยู่เนือง ๆ  ความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ อาณาจักรนี้  จึงสร้างความขมขื่นแก่พลเมืองซึ่งสังกัดอยู่ในทั้ง ๒ อาณาจักร ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา  ปัญหานี้เป็นปัญหาของยุคกลางโดยเฉพาะ  อริสโตเติลไม่อาจจะเตรียมคำตอบอะไรไว้ให้ได้  อาควีนัส ต้องขบคิดเองโดยอาศัยวิธีพิจารณาของอริสโตเติล
อาควนัส ปูพื้นฐานด้วยหลักการของอริสโตเติลว่า  สถาบันสังคมจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้มนุษย์แต่ละคนบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต  ในเมื่อเป้าหมายแห่งชีวิตสำหรับอาควีนัส มี ๒ ระดับ  คือ  ระดับตามธรรมชาติและระดับเหนือธรรมชาติ  ทั้งนี้  มิได้หมายความว่า  มนุษย์แต่ละคนมี ๒ เป้าหมาย  แต่หมายความว่า มีเพียงเป้าหมายเดียว  โดยที่ระดับตามธรรมชาติจะต้องสนับสนุนระดับเหนือธรรมชาติ  สถาบันสังคม จึงต้องมี ๒ แบบอิสระต่อกัน  เพื่อจะได้ปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะของตน  แต่ทั้ง ๒ สถาบัน จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้พลเมืองซึ่งจะต้องอยู่ในทั้ง ๒ สถาบัน  ไม่ประสบความสับสนในการปฏิบัติตามระเบียบการของ ๒ สถาบัน อย่างสอดคล้องกัน
อาควีนัส มีความเห็นคล้ายอริสโตเติลว่า  มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  คือ ต้องอยู่ในสังคมโดยจำเป็น  เพราะมนุษย์มีความสันทัดไม่เหมือนกัน  ไม่มีใครจะอยู่ได้โดยตัวคนเดียวและบรรลุเป้าหมายของชีวิตได้  มนุษย์จำเป็นต้องแบ่งภาระกันรับผิดชอบโดยแบ่งงานกันทำ  แต่ในเวลาเดียวกัน  มนุษย์แต่ละคนจะต้องเป็นตัวของตัวเอง  ใช้เหตุผลของตนเองในการตัดสินใจเลือกการกระทำ  สถาบันการเมืองจึงมีขึ้นเพื่อประกันการเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน  และประกันการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ในเมื่อสถาบันการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นในธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้  ก็แสดงว่าสถาบันการเมืองเป็นสถาบันอิสระตามกฎธรรมชาติและตามแผนการสร้างของพระเจ้า  อาควีนัส จึงไม่เห็นด้วยกับบางคนในสมัยนั้น  เช่น  จอห์น แห่งซอลส์เบอรี่  ที่ถือว่า อำนาจการเมืองต้องได้รับมอบหมายจากศาสนจักร  แต่กลับคิดว่า สถาบันการเมืองมีอำนาจเป็นอิสระตามกฎธรรมชาติ
รัฐมีอำนาจที่จะสละคนบางคน  เพื่อให้คนส่วนมากของรัฐบรรลุเป้าหมายของตน  แต่รัฐจะต้องไม่ลืมตนจะใช้พลเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อรัฐเป็นหมายโดยตรงไม่ได้เป็นอันขาด  อาควีนัส จึงขัดแย้งกับลัทธิเบ็ดเสร็จนิยม  (totalitarianism)  ในเรื่องนี้  และถ้าหากรัฐออกกฎหมายขัดแย้งกฎธรรมชาติ  เช่น  ไม่ส่งเสริมให้แต่ละคนบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตของตน  กฎหมายดังกล่าว ถือว่าไม่มีผลบังคับและพลเมืองมีหน้าที่ขัดขืน  และร่วมมือกันต่อต้านโดยสันติวิธี  ทั้งนี้  จะต้องมีเหตุผลชัดเจนว่ากฎหมายเป็นเช่นนั้นจริง  แต่ถ้ากฎหมายบังคับตามทำนองครองธรรม ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายถือว่าปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า  และผู้เชื่อฟังผู้มีอำนาจของรัฐก็เท่ากับเชื่อฟังพระเจ้าเอง
อาควีนัส ไม่เห็นด้วยกับการล้มทรราชด้วยการกบฏ  เพราะจะเกิดความเดือดร้อนมากเกินไปจนไม่คุ้มค่า  และมักจะได้ทรราชใหม่ขึ้นแทนทรราชเก่า  และจะต้องกบฏล้มล้างกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น  สันติวิธีของอาควีนัสทำอย่างไร  อาควีนัสมิได้กำหนดไว้ให้  คงจะต้องดูความเหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไปนั่นเอง
สำหรับอาควีนัส  เป้าหมายของการปกครองสำคัญกว่าระบอบปกครอง  จะปกครองระบอบใดก็ได้  ขอให้มีเป้าหมายที่ถูกต้องก็แล้วกัน  แต่อาควีนัส มีความเห็นส่วนตัวว่า  ระบอบปกครองโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้กฎหมายซึ่งออกโดยผู้แทนราษฎร  น่าจะบรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด  เพราะเชื่อว่า  จะไม่มีการปล่อยปละละเลย  และในขณะเดียวกัน ก็มีการถ่วงดุลอำนาจกันไว้ในตัว
เพื่อบรรลุเป้าหมายเหนือธรรมชาติตามที่พระเจ้าทรงวางแผนไว้  มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยสถาบันที่พระองค์เองได้ทรงตั้งขึ้น  คือ  คริสตจักร  เพื่อปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างได้ผล  อาควีนัส คิดว่า คริสตจักรจะต้องเป็นสถาบันอิสระจากอำนาจการเมือง  และมีอำนาจเพียงพอสำหรับปฏิบัติภารกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากสถาบันศาสนามีเป้าหมายระดับสูงกว่า  สถาบันการเมืองจึงมีหน้าที่เกื้อหนุนให้ความสะดวกและช่วยเหลือในเรื่องที่จำเป็นโดยไม่ก้าวก่ายในสิทธิและอำนาจของสถาบันศาสนา  การใช้สถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือสำหรับแสวงหาอำนาจทางการเมือง  จึงเป็นนโยบายที่อาควีนัสประณามอย่างยิ่ง
จึงเป็นอันว่า  สำหรับ อาควีนัส  มนุษย์จำเป็นต้องอยู่ในสังคมตามธรรมชาติ  ในลักษณะที่สังคมมีอยู่เพื่อมนุษย์  มิใช่มนุษย์เพื่อสังคม  แต่ทว่ามนุษย์จำเป็นต้องเสียสละเพื่อสังคม  สังคมจึงจะสามารถนำความสงบมาสู่มนุษย์  อำนาจการปกครองมาจากพระเจ้าก็จริง  แต่ก็เป็นอำนาจเพื่อบริการเท่านั้น  มิฉะนั้น  ถือว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบ  ผู้มีอำนาจจะเป็นใคร  และได้ชื่อว่าอย่างไรนั้นหาสำคัญไม่

๔.ปรัชญาการเมืองของนักปฏิรูปศาสนา
การปฏิรูปศาสนาคริสต์ในยุโรป  มีความสัมพันธ์กับการเมืองและลัทธิการเมืองอย่างใกล้ชิด  นักปฏิรูปหลายท่านจึงได้เสนอทฤษฎีและปรัชญาการเมืองของตนให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปศาสนาของแต่ละท่านด้วย  ที่นับว่าสำคัญที่สุด  ได้แก่ 
๔.๑.ชีวิตและปรัชญาการเมืองของ มาร์ติน  ลูเธอร์
มาร์ติน  ลูเธอร์  (Martin  Luther)  เกิดที่ตำบลไอส์เลเบ็น  (Eisleben)  ในแคว้นซักเซ็น  ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากคณะภราดา แห่งชีวิตรวม  (Brethren  of  the  Common  Life)  เข้ามหาวิทยาลัยเอร์ฟูร์ต  ในปี ค.ศ.๑๕๐๑  เพื่อเรียนกฎหมาย  ต่อมา  ท่านตัดสินใจสละโลกเข้าบวชในคณะเอากุสติเนียน  ศึกษาปรัชญาและเทววิทยาต่อไปในอารามของตน  ซึ่งมีแนวโน้มทางลัทธินามนิยม  สอนวิชาตรรกวิทยา  ธรรมชาติวิทยาและพระคัมภีร์ ที่มหาวิทยาลัยวิตเต็นเบิร์ก  (Wittenberg
ในปี  ค.ศ.๑๕๑๐  ถูกส่งไปทำธุระของคณะที่กรุงโรมค่อนข้างนาน  ได้เห็นความเหลวแหลกในสำนักสันตะปาปาที่ปรับปรุงสอดคล้องกับสมัยฟื้นฟู  รู้สึกผิดหวังอย่างแรง  ทำให้เริ่มคิดหาทางแก้ไข    ครั้นมีการขายใบยกโทษบาป  เพื่อหาทุนสร้างโบสถ์เซนต์ ปีเตอร์  รู้สึกว่าทนต่อไปไม่ไหว  จึงตัดสินใจปฏิรูปขั้นเด็ดขาด  คือ  ปิดแถลงการณ์คัดค้านหน้าประตูโบสถ์วิตเต็นเบิร์ก  ลูเธอร์ ถูกสันตะปาปาเลโอที่  ๑๐  คว่ำบาตร  แต่ก็ได้รับการคุ้มครองจากเฟรเดริค แห่งซักเซ็น  ลูเธอร์ใช้เวลาแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาเยอรมัน  และเขียนบทความต่าง ๆ เพื่อกำหนดคำสอนของลัทธิใหม่ในคริสตศาสนา  ใช้เวลาสอนและปลอบใจผู้สนับสนุน  จนสามารถตั้งลัทธิได้มั่นคง  จนถึงแก่มรณภาพ
การที่ลูเธอร์มีความผูกพันกับพระเจ้าเฟรเดริค แห่งซักเซ็น  ทำให้คำสอนของท่านได้สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันนี้  คือ  ราษฎรต้องสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์ของตน  ไม่ว่ากษัตริย์จะดีหรือเลว  ก็ต้องสวามิภักดิ์  ทั้งนี้ เพราะเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ประทานกษัตริย์มาให้ปกครอง  ปรากฏว่า  เมื่อเกิดกบฏชาวนาขึ้น  ในปี ค.ศ.๑๕๒๕  ลูเธอร์  ก็แนะนำกษัตริย์ให้ปราบอย่างรุนแรง  เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
๔.๒.ชีวิตและปรัชญาการเมืองของ แคลวิน
แคลวิน  (Jean  Calvin)  เกิดที่เมืองนัวยอง  (Noyon)  ในแคว้นปีคาร์ดี ของฝรั่งเศส  บิดาเป็นเลขานุการของสังฆราช  แคลวิน จึงเข้าเรียนในคณะเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีส  เพื่อเตรียมตัวเป็นพระ  ค.ศ.๑๕๒๘  บิดาผิดใจกับสังฆราช  ถูกไล่ออกจากงาน  แคลวิน จึงเปลี่ยนไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งออร์เลอองและบูร์ช  สนใจการปฏิรูปศาสนา  โดยมั่นใจว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  ค.ศ.๑๕๓๔  แคลวิน ไปตั้งหลักแหล่งที่บาเซิล  สวิตเซอร์แลนด์  พิมพ์หนังสือ  คู่มือศาสนาคริสต์  (Institution  of  the  Christian  Religion)  ปี ค.ศ.๑๕๔๑  แคลวินได้รับเชิญให้ไปช่วยจัดการปฏิรูปศาสนาและสังคม  โดยได้จัดการปกครองด้วยระบอบเทวาธิปไตย  โดยมีสภาที่ปรึกษา  จัดการอบรมอาชีพให้ประชาชนตามหลักวิชาการ  ทำให้ผู้นิยมลัทธิของแคลวินมีฐานะเศรษฐกิจดีขึ้นมาก  แคลวิน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ  เป็นเหตุให้สุขภาพเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว  แต่ไม่ยอมหยุดทำงานจนถึงแก่มรณภาพ
แคลวิน มีคำสอนที่สำคัญ คือ  ถือว่าผู้ถือลัทธินี้เท่านั้นจึงจะได้เป็นผู้ถูกคัดเลือกให้ได้ไปสวรรค์  ผู้ถูกเลือกจึงมีหน้าที่ร่วมมือสร้างสังคมเทวาธิปไตยให้มั่นคงโดยการทำงานให้มีเศรษฐกิจดี  เคร่งครัดในการปฏิบัติตน  กระเหม็ดกระแหม่เก็บเงินไว้เพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง  จะได้เป็นกำลังของศาสนา  จากลัทธิแคลวินพัฒนามาเป็นลัทธิเพียวรีตันและลัทธิเพรสไบทีเรียนหลายสาขาด้วยกัน
ด้านปรัชญาการเมืองนั้น  แคลวิน คิดว่า  พระเจ้าประทานอำนาจ ๒ อย่าง  ให้กับผู้ปกครอง คือ  อำนาจทางศาสนากับอำนาจทางการเมือง  การเมืองมีหน้าที่รับใช้ศาสนา  และต้องอยู่ใต้อำนาจของศาสนาที่ถูกต้อง  ศาสนาที่ถูกต้อง ก็คือ ลัทธิแคลวิน  ดังนั้น  หากมีความจำเป็นหรือมีประโยชน์  ศาสนาก็ควรจัดการปกครองทางการเมืองไปด้วย  เพื่อค้ำประกันให้การเมืองเป็นไปตามเป้าหมาย  คือ  บริการการศาสนา  ราษฎรมีหน้าที่จะต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง  ไม่ว่าจะฝ่ายศาสนาหรือการเมือง  ทั้งนี้  เพราะอำนาจการปกครองมากจากพระเจ้า  และพระองค์เองทรงประทานผู้ปกครองมาให้ตามน้ำพระทัยของพระองค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น