วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง

๑.ความหมายของปรัชญาการเมือง
ปรัชญาการเมือง  เป็นสาขาหรือแขนงหนึ่งของปรัชญา (Philosophy)  ปรัชญาตามความหมายดั้งเดิม  หมายถึง  ความรักในปัญญา (love  of  wisdom) หรือ  การแสวงหาปัญญา  (quest  for  wisdom)  แต่ผู้ที่แสวงหาปัญญาหรือปรัชญาเมธี (philosopher)  แสวงหาปัญญาในเรื่องที่เกี่ยวด้วยอะไร  หลักฐานที่ปรากฏแสดงว่าปรัชญาเมธีคนแรก ๆ ได้แก่  ผู้ที่พูดถึง “ธรรมชาติ”  เพราะฉะนั้น  ธรรมชาติจึงเป็นสาระสำคัญของปรัชญา  แต่ “ธรรมชาติ”
หมายถึงอะไร  คำตอบก็คือว่า  ธรรมชาติ  หมายถึง  คุณลักษณะ (character) ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง “มี” หรือ “เป็น” หรือ “กระทำ”   หากธรรมชาติเป็นสิ่งที่จะต้องถูกต้นพบ  การค้นพบธรรมชาติ  หมายถึง  การแยกแยะปรากฏการณ์ทั้งหลายออกเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นธรรมชาติ และปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ  ดังนั้น  ปรัชญาเมธี คือ ผู้ที่แสวงหาและแยกแยะปรากฏการณ์ดังกล่าวออกจากกัน  นั่นเอง
ชีวิตของมนุษย์ก่อนที่จะเกิดปรัชญา  คือ  ชีวิตที่มีรากฐานอยู่บนขนบประเพณี  โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว  การมีชีวิตที่มีรากฐานอยู่บนขนบประเพณี ก็คือ  การยอมรับว่าสิ่งที่ดีคือสิ่งที่ได้มีการปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  และสิ่งที่เป็นสิ่งที่ยอมรับกันมาช้านานนี้เป็นส่วนหนึ่งของตนเองและเป็นของที่ดีด้วย  ฉะนั้น  ในชุมชนที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมดังกล่าวย่อมถือว่าปรัชญาเป็นของแปลกใหม่  ย่อมถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย  เช่น  ชุมชนที่นับถือพระอาทิตย์ว่าเป็นเทพเจ้า  ย่อมไม่พอใจกับผู้ที่เสนอความเห็นว่า  พระอาทิตย์เป็นเพียงก้อนหินหรือลูกไฟ  เป็นต้น 
การเกิดของปรัชญาหรือการค้นพบธรรมชาติ  จึงนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยเอากับขนบธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาของชุมชน  จากแง่ของปรัชญาเมธีนั้น  การกระทำดังกล่าวแท้จริง ก็คือ  ความพยายามที่จะทดแทนสิ่งซึ่งเก่าแก่ด้วยสิ่งที่ดี  เพราะนักปรัชญา เชื่อว่า  สิ่งที่ดีโดยธรรมชาตินั้นย่อมเก่ากว่าขนบธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น  เพราะธรรมชาติย่อมมีมาก่อนขนบธรรมเนียมทั้งปวง  และธรรมชาติย่อมอยู่เหนือข้อจำกัดหรือขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า  ประวัติศาสตร์  สังคม  ศีลธรรม  ศาสนา
แนวโน้มของปรัชญาที่จะเกี่ยวโยงเอาปัญหาของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน  เริ่มต้นด้วย  โสเกรตีส  เพราะโสเกรตีสเป็นผู้เริ่มตั้งคำถามประเภทที่ว่า  อะไรคือความดี  อะไรคือความกล้าหาญ  อะไรคือความยุติธรรม  อย่างจริงจัง  การตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต  ศีลธรรม  สิ่งที่ดีและสิ่งที่ชั่วของโสเกรตีส  ในแง่หนึ่งนั้น  กลายเป็นการตั้งข้อสงสัยเอากับรากฐานที่สำคัญที่สุดของชุมชนการเมือง  เพราะสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่รวมกันในลักษณะใด  หากจะอยู่รวมกันได้ก็ต้องมีข้อสมมติฐานร่วมกันอยู่ระดับหนึ่งเสมอว่า  อะไรคือสิ่งที่ดี  อะไรคือสิ่งที่ยุติธรรม  การตั้งคำถามของโสเกรตีสซึ่งมักจะเริ่มต้นจากความเห็นที่คนทั่วไปยอมรับ  แล้วนำไปสู่การชี้ให้เห็นว่าความเห็นของมนุษย์อาจขัดกันได้  จึงเป็นการปฏิเสธว่า  ความยุติธรรมที่กฎหมายเชื่อถือกันนั้นเป็นความยุติธรรมที่แน่แท้หรือเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาติ  การปฏิเสธเช่นว่านี้ชี้ต่อไปว่า  น่าจะมีความยุติธรรมหรือความดีที่เป็นโดยธรรมชาติที่เราอาจล่วงรู้ได้อยู่  การแสวงหา “ธรรมชาติ” ของความยุติธรรมหรือความดี  และการตั้งคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับมนุษย์และชุมชนการเมืองนี้แหละ คือ จุดเริ่มต้นของปรัชญาการเมือง
ลักษณะเด่นของคำถามที่โสเกรตีสถาม  คือ มักเป็นคำถามที่ขึ้นต้นด้วย  “อะไรคือ...?”   คำถามของโสเกรตีส  ที่ว่าอะไรคือความดี  อะไรคือความยุติธรรม  เป็นการชี้ให้เห็นลักษณะอันเป็นสากลของความดีและความยุติธรรม  ชี้ให้เห็นว่า  ความดีและความยุติธรรม  มีธรรมชาติของตัวเอง  เป็นอิสระจากความเป็นทั้งปวง 
โสเกรตีส  ได้รับการยกย่องให้เป็น  “บิดาของปรัชญาการเมือง”  ที่ปรัชญาของโสเกรตีส  กลายเป็นปรัชญาการเมือง  เพราะการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเมืองนั้น  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในชุมชนใด  ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงหรือคงรักษาไว้  เมื่อมุ่งจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  และเมื่อมุ่งที่จะรักษาก็ต้องมุ่งรักษาสิ่งที่ดีไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง  นั่นคือ  การกระทำทางการเมืองย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวเป็นเครื่องชี้ทางเสมอ  ดังนั้น  ปรัชญาการเมือง  จึงหมายถึง  ความพยายามที่จะทดแทนความเห็น (opinion) ในเรื่องธรรมชาติของการเมืองด้วยความรู้ในเรื่องธรรมชาติของสิ่งที่เป็นการเมือง  ทั้งยังเป็นความพยายามที่จะรู้ทั้งธรรมชาติของสิ่งที่เป็นการเมืองและระเบียบทางการเมืองที่ถูก  ที่ดี ด้วยพร้อม ๆ กัน



๒.ลักษณะของปรัชญาการเมืองคลาสสิก
ลักษณะสำคัญของปรัชญาการเมืองที่โสเกรตีสเป็นผู้เริ่มต้น  และสืบทอดผ่านมาทางเพลโตและอริสโตเติล  อยู่ที่การแสวงหาคำตอบว่า ระเบียบทางการเมืองที่ดีที่สุดเป็นสากลนั้นเป็นอย่างไร  ปรัชญาการเมืองคลาสสิกพิจารณาประเด็นทางการเมืองและประเด็นทางศีลธรรมจากแง่ความสมบูรณ์ของมนุษย์เป็นหลัก  กล่าวคือ  ปรัชญาเมธีคลาสสิกทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่า  เป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมือง คือ คุณธรรม 
ดังนั้น  ปรัชญาการเมืองคลาสสิก  จึงไม่ยกย่องสรรเสริญความเสมอภาคหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ว่าเป็นสิ่งสูงสุด  ปรัชญาเมธีคลาสสิกไม่ใช่ผู้นิยมความเสมอภาค  สำหรับพวกเขาแล้ว  มนุษย์ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาโดยธรรมชาติให้มีความโน้มเอียงต่อคุณธรรมอย่างเท่าเทียมกัน  ในขณะที่บางคนมีความสามารถโดยธรรมชาติอยู่แล้ว  บางคนก็ไม่มีเลย  และบางคนก็อาจมีได้ถ้าได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง  ด้วยเหตุนี้  การกำหนดให้สิทธิแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  ในขณะที่คนบางคนเป็นผู้สูงส่งกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติ  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับปรัชญาเมธีคลาสสิกทั้งหลายไป  เพราะฉะนั้น  จากทรรศนะของปรัชญาเมธีคลาสสิก  รัฐที่ดีที่สุด  จึงได้แก่  รัฐที่มีการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย  (aristocracy)  หรือรัฐผสม  (mixed  regime)
ปรัชญาเมธีคลาสสิกยอมรับว่า  โอกาสที่จะได้มาซึ่งรัฐที่ดีที่สุดนั้น  ขึ้นอยู่กับโอกาส  ขึ้นอยู่กับโชคชะตา  เช่นเดียวกับที่โสเกรตีส  ใน Republic  ของเพลโต  กล่าวว่า  “เมื่อราชากลายเป็นปรัชญาเมธี หรือ เมื่อปรัชญาเมธีกลายเป็นราชาเท่านั้น  รัฐที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้”  การตระหนักในโอกาสแห่งความเป็นไปได้ของรัฐในอุดมคตินี้เอง  ที่ทำให้ปรัชญาการเมืองคลาสสิก  กลายเป็นบทวิจารณ์อันสำคัญสำหรับความใฝ่ฝันในทางการเมืองหรืออย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ยูโทเปีย”  นั่นเอง
ปัญหาที่สำคัญในทางปฏิบัติของปรัชญาเมธีคลาสสิกทั้งหลายอยู่ที่ว่า  ทำอย่างไรคำสอนเกี่ยวกับรัฐที่ดีที่สุดของตน  จึงจะไม่เป็นการทำลายล้างความจงรักภักดีที่พลเมืองมีต่อรัฐปัจจุบัน  ซึ่งย่อมจะเป็นรัฐที่ไม่สมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐที่ดีที่สุด  คำสอนของปรัชญาการเมืองคลาสสิกจึงต้องมีลักษณะที่ซ่อนเร้นบางประการแอบแฝงอยู่บ้าง  ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คำสอนนั้นมีประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบุรุษ  แต่ไม่ให้เป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับความรู้สึกชาตินิยม  หรือความรู้รักถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้ที่ไม่ใช่ปรัชญาเมธีหรือรัฐบุรุษ 

๓.สาระสำคัญของการศึกษาปรัชญาการเมือง
          ปรัชญาการเมือง    เป็นวิชาประยุกต์สาขาหนึ่ง  มุ่งศึกษาวิเคราะห์ประเมิน แสวงหาและสร้างแนวคิดอันเป็นสัจจะทางการเมือง อีกนัยหนึ่ง ปรัชญาการเมือง เป็นวิชาว่าด้วยความคิดเกี่ยวกับการตีความ การสร้างและกำหนดสิทธิ  หน้าที่ ตลอดถึงความสัมพันธ์แบบฉบับ ในการดำเนินชีวิตร่วมกันของมนุษย์    ยิ่งกว่านี้ยังเป็นวิชาว่าด้วยโครงร่างทางความคิด  และความเชื่อถือที่ถือเป็นสูตรทางการเมืองพร้อมกับการให้เหตุผล วิเคราะห์ ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางสร้างสถาบัน อุดมคติ นโยบาย และวัตถุประสงค์ทางการเมือง

๔.ประวัติความเป็นมาของปรัชญาการเมือง
          ในทางวิชาการแล้วถือกันว่า   ปรัชญาการเมือง  เป็นแขนงหรือสาขาวิชาหนึ่งของปรัชญา ซึ่งปรัชญาเองก็ได้ศึกษาที่เกี่ยวโยงเอาปัญหาของมนุษย์เข้าไว้ด้วย  เริ่มต้นด้วย  โสเกรตีส  เพราะโสเกรตีส  เป็นผู้เริ่มตั้งคำถามทำนองที่ว่า    อะไรคือความดี   อะไรคือความกล้าหาญ   อะไรคือความยุติธรรม    อย่างจริงจัง   จะเห็นได้ว่า   คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะใกล้ตัวมนุษย์ยิ่งกว่าคำถามที่ปรัชญาเมธีรุ่นแรก ๆ ตั้งเท่านั้น หากแต่มีการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงและโดยตรงต่อความเห็นในเรื่องทางการเมืองของชุมชนอีกด้วย

๕.ประเภทของปรัชญาการเมือง
เมื่อกล่าวประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาปรัชญาการเมือง ตั้งแต่ยุคโบราณเรื่อยมา  จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งประเภทของปรัชญาการเมืองได้ ดังนี้
๑.ปรัชญาการเมืองคลาสสิก (Classical Political Philosophy)
โดยมีโสเครตีส เป็นผู้เริ่มต้น และสืบทอดผ่านมาทางเพลโตและอริสโตเติลตามลำดับ  สาระสำคัญของปรัชญาการเมืองคลาสสิกก็คือ   เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อดำรงรักษา   และ  พัฒนาชุมชนขนาดเล็กให้มีความเจริญก้าวหน้าในการปกครองตนเอง มีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้   มีความสำเร็จในการจัดองค์การทางการเมืองการปกครอง  ทางเศรษฐกิจและสังคม ความสำเร็จเหล่านี้นับเป็นปรากฎการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ
๒.ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ (Modern Political Philosophy)
                   ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อผลของศาสนาคริสต์ที่แตกแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ นอกจากนี้  ยังปฏิเสธโครงร่างปรัชญาการเมืองคลาสสิกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกด้วย
๓.ปรัชญาการเมืองในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า   ในปัจจุบันนี้ฐานะของปรัชญาการเมืองค่อนข้างจะได้รับความสนใจและเอาใจใส่น้อยลงหรือตกต่ำลง   ทั้งนี้  ก็เพราะสังคมศาสตร์   (Social Science)  ได้ยอมรับเอาข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์มาเป็นข้ออ้าง และบรรทัดฐานของตน   กล่าวคือ  สังคมศาสตร์  ปัจจุบันถือว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่มีหลักเกณฑ์อย่างทางวิทยาศาสตร์     (Scientific Knoredge)   เท่านั้นที่เป็นความรู้อย่างแท้จริง  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์ต้องเป็นความรู้ที่อาจมีการพิสูจน์ หรือทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกันกับกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ สังคมปัจจุบันถือว่า ความเห็นของโสเครตีสในเรื่องของความดี  ความกล้าหาญ  ความยุติธรรม ล้วนแต่เป็นเรื่องซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวหรือแน่นอนคงที่และไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นจริงได้โดยหลักเกณฑ์แบบวิทยาศาสตร์ หลักการของปรัชญาเมธีไม่ว่าจะเป็นโสเครตีส   เพลโต   หรืออริสโตเติล  ก็เป็นเสมือนเพียงระบบค่านิยม ในบรรดาค่านิยมทั้งหลายเหล่านั้น

๖.ความสำคัญและประโยชน์ทางการศึกษาปรัชญาการเมือง
ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์     ทองประเสริฐ    ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการศึกษาปรัชญาเป็นเบื้องต้นว่า    ถ้าหากคนในสังคมมีปรัชญาสำหรับดำเนินชีวิต     ก็จะทำให้คนเรามีหลักการ   และมีเหตุผลมากขึ้น   การใช้อารมณ์หรือทิฏฐิมานะเข้าต่อสู้กันอย่างสัตว์เดรัจฉานก็คงจะหมดไป    หรือจะลดน้อยลง   ทั้งนี้  ก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐประเภทเดียวที่พอจะสอนให้มีเหตุมีผลได้   การที่เขาไม่มีเหตุผล  อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยมีใครอบรมสั่งสอนเขาให้มีเหตุผลก็ได้
ในแง่ประโยชน์ของปรัชญาการเมือง  นอกจากที่กล่าวมาในประโยชน์ของการศึกษา ปรัชญาเป็นเบื้องต้นแล้ว    ปรัชญาทางการเมืองมีประโยชน์ในแง่ที่มีขอบเขตในการอธิบายสิ่งต่าง  ๆ   กว้างขวางกว่าวิทยาศาสตร์และวิธีการต่าง  ๆ  หลากหลายแบบหลายประเภทซึ่งอาจไม่เป็นวิธีการในแนววิทยาศาสตร์เสมอไป  ปรัชญาทางการเมืองจึงไม่มีลักษณะเป็นทฤษฎี แต่ก็อาจถือว่าเป็นแนวคิดที่จะพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด

ประโยชน์แห่งปรัชญาทางการเมือง ที่เห็นได้ชัด ก็คือ     เป็นเสมือนหนทางที่ช่วยให้มนุษย์สามารถค้นหาสิ่งซึ่งตนปรารถนาที่จะรู้   แต่สิ่งนั้นยังเป็นสิ่งลี้ลับ  ไม่อาจจะรู้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะยังประโยชน์นำมาสู่สันติสุขในแง่ของการเมืองการปกครองของมนุษยชาติตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น