ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ตอนที่ 3.1 : ประวัติของรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3.1.1 : ความหมายของรัฐธรรมนูญ
1. บุคคลที่เสนอให้ใช้คำว่า
“รัฐธรรมนูญ” คือ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ซึ่งทรงมีความเห็นว่า ธรรมนูญเป็นคำสามัญ ฟังไม่เหมาะกับที่จะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ
2. คำว่า “รัฐ”
ในทางวิชาการ ถือว่าต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ
คือ
(1) ดินแดน (3) อำนาจอธิปไตย
(2) ประชาชน (4) รัฐบาล
3. สังคมทั้งหลายต้องมีรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อาจไม่เรียกว่ารัฐธรรมนูญเท่านั้น
แม้ในประเทศไทยเมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังไม่รู้จักคำว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป
คงเรียกเพียงว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว
พ.ศ.2475”
4. รัฐธรรมนูญ เป็นชื่อเฉพาะของกฎหมายประเภทหนึ่ง มีฐานะ
เป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศอย่างกว้างๆ สำหรับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสาขามหาชนที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองของรัฐ
5. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นคำที่กว้างกว่ารัฐธรรมนูญ
เนื่องจาก
- คลุมถึงรัฐธรรมนูญด้วย
- คลุมถึงกฎเกณฑ์การปกครองประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
- คลุมถึงกฎหมายทั้งหลายที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองใดสถาบันการเมืองหนึ่งด้วย
6. ความคล้ายคลึงระหว่างรัฐธรรมนูญ
และกฎหมายรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ว่า เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบเกี่ยวกับการเมืองการปกครองคล้ายคลึงกัน
เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนกรายละเอียดมากกว่า
7. ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อยู่ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร
และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
8. กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีส่วนคล้ายกับกฎหมายปกครองที่ว่า
เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบการปกครองรัฐ
แต่ก็มีความแตกต่างในประเด็นดังต่อไปนี้
(1) ในด้านเนื้อหา กฎหมายรัฐธรรมนูญวางระเบียบการปกครองรัฐในระดับสูงและกว้างขวางมากกว่ากฎหมายปกครอง
ในขณะที่กฎหมายปกครองวางระเบียบรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
(2) ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐ กฎหมายรัฐธรรมนูญแสดงความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับราษฎรในรูปของกลุ่มราษฎรเป็นส่วนรวม
ในขณะที่กฎหมายปกครองแสดงความเกี่ยวพันระหว่างราษฎรเป็นรายบุคคลกับรัฐ
(3) ในด้านฐานะของกฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายปกครอง
เรื่องที่ 3.1.2 : ประวัติแนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
1. การศึกษาแนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ควรศึกษาจากประวัติหรือเหตุการณ์ใน
4 สมัย
2. สมัยแรก (ก่อนปี ค.ศ.1758 ซึ่งเป็นปีที่มีการใช้มหาบัตร
Magna Carta ในอังกฤษ)
- กฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศมีลักษณะเลื่อนลอย
มีบัญญัติไว้บ้าง เป็นจารีตประเพณี
บ้าง เป็นโองการของกษัตริย์บ้าง
- กฎหมายรัฐธรรมนูญสมัยนี้มีลักษณะราชาธิปไตยโดยแท้
3. สมัยที่สอง (ปี ค.ศ.1758 – ปี ค.ศ.1776 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศอิสรภาพในสหรัฐอเมริกา)
- รัฐธรรมนูญเริ่มมีความชัดเจนขึ้น
เป็นกฎหมายที่จำกัดอำนาจของผู้ปกครอง
-
กฎหมายรัฐธรรมนูญสมัยนี้มีลักษณะเป็นอภิชนาธิปไตย
(Oligarchy)
4. สมัยที่สาม (ปี ค.ศ.1776 – ปี พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่
2)
- มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในสมัยที่สามนี้มากมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ
เช่น
* การจัดทำรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ในปี
ค.ศ.1789
* การปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อปี
ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332)
* การจัดทำรัฐธรรมนูญในเยอรมัน ในปี
พ.ศ.2392
* การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย
เมื่อปี พ.ศ.2475
- รัฐธรรมนูญสมัยนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจและการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร
- ปลายสมัยนี้ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่
2 ในยุโรปเกิดมีการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องลัทธิการเมือง
ระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตย และฝ่ายนิยมลัทธิเผด็จการในรูปแบบต่างๆ
เช่น ฟาสซิสม์ นาซิสม์
และคอมมิวนิสต์
5. สมัยที่สี่ (ปี พ.ศ.2488 – ปัจจุบัน)
- มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่
ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ
* ระดับภายในประเทศนั้น มีการแตกแยกออกเป็นหลายรัฐ เช่น เยอรมันตะวันตกและ
เยอรมันตะวันออก เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นต้น
* ระดับระหว่างประเทศนั้น เกิดองค์การสหประชาชาติ
องค์การร่วมในระดับภูมิภาค
- แนวความคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองแบบใหม่
(Modern Positive Law) เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
(คือการผสมผสานแนวคิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองและกฎหมายฝ่ายธรรมชาติเข้าด้วยกัน)
- แนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยนั้น
ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ ซึ่งแบ่ง
ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
* การแบ่งแยกอำนาจแบบเคร่งครัด ตามหลักรัฐบาลระบบประธานาธิบดี
* การแบ่งแยกอำนาจแบบไม่เคร่งครัด ตามหลักรัฐบาลระบบรัฐสภา
- ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดใหม่คือ
ควรเน้นการแบ่งแยกหน้าที่มากกว่า
เรื่องที่ 3.1.3 : ประเภทของรัฐธรรมนูญ
1. ประโยชน์ของการแบ่งแยกประเภทรัฐธรรมนูญนั้น
เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะประเทศที่เกิดใหม่หรือเพิ่งได้เอกราชใหม่หรือคิดจะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
2. การแบ่งแยกประเภทรัฐธรรมนูญแบ่งได้หลายลักษณะ
ขึ้นอยู่กับจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการแบ่ง
เช่น
(1) การแบ่งแยกตามรูปแบบของรัฐบาล ถือกันว่าปัจจุบันเป็นหลักเกณฑ์นี้ล้าสมัยแล้ว
- อริสโตเติล
เคยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญแบบเอกาธิปไตย รัฐธรรมนูญแบบ
รัฐบาลของคณะบุคคล และรัฐธรรมนูญแบบรัฐบาลของบุคคล
- มองเตสกิเออ
เคยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญแบบ
ราชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการนิยม
(2) การแบ่งแยกตามรูปของรัฐ
- รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยว -
รัฐธรรมนูญของรัฐรวม
(3) การแบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติ
- รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร - รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
(4) การแบ่งแยกตามวีการแก้ไข
- รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย -
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก
(5) การแบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการใช้
- รัฐธรรมนูญชั่วคราว -
รัฐธรรมนูญถาวร
(6) การแบ่งแยกตามลักษณะของรัฐสภา
- เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง - เป็นสภาเดียวหรือสองสภา
(7) การแบ่งแยกตามลักษณะของฝ่ายบริหาร
- รัฐธรรมนูญตามระบบประธานาธิบดี - รัฐธรรมนูญตามระบบรัฐสภา
(8) การแบ่งแยกตามลักษณะของฝ่ายตุลาการ
- ฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายใดเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
3. ปัจจุบันได้เกิดความคิดใหม่ขึ้นว่า
การแบ่งประเภทรัฐธรรมนูญควรแบ่งตามความเป็นจริง โดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้รัฐธรรมนูญ
หรือความมุ่งหมายในการมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
คือ
(1) รัฐธรรมนูญซึ่งมีกฎเกณฑ์ตรงต่อสภาพในสังคม
(Normative Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่มีกฎเกณฑ์การปกครองสอดคล้องกับลักษณะสังคม
(2) รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้เกินความเป็นจริง
(Nominal Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่สมบูรณ์ แต่ยังขาดการปฏิบัติตามอย่างแท้จริง
(3) รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้ตบตาคน
(Semantic Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่มีลักษณะเผด็จการ
ตอนที่ 3.2 : การจัดทำรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3.2.1 : อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
1. อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
หมายถึง อำนาจทางการเมืองของคณะบุคคล หรือบุคคลที่อยู่ในฐานะบันดาลให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นได้สำเร็จ
โดยนัยนี้ ผู้ที่จัดให้มีรัฐธรรมนูญจึงหมายถึง “รัฏฐาธิปัตย์”
หรือผู้อยู่ในฐานะอย่างรัฏฐาธิปัตย์
2. คตินิยมแบบลัทธิเทวสิทธิราชย์
(The Divine Right Theory) มีสาระสำคัญว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกกษัตริย์ให้เป็นผู้นำประเทศ
และทรงวางกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้ให้ อำนาจทั้งปวงของกษัตริย์ย่อมหลั่งไหลจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
3. เมื่อคตินิยมแบบลัทธิเทวสิทธิราชย์เสื่อมลง
เกิดมีแนวความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
- ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
- ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
- ราษฎรเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
- ประมุขของรัฐ คณะปฏิวัติและราษฎรร่วมกันจัดให้มีขึ้น
- ผู้มีอำนาจจากรัฐภายนอกจัดให้มีขึ้น
4. ตัวอย่างรัฐธรรมนูญประเภทประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
ได้แก่
- รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น
เมื่อ พ.ศ.2432 -
รัฐธรรมนูญของโมนาโค เมื่อ พ.ศ.2454
- รัฐธรรมนูญของรุสเซีย
เมื่อ พ.ศ.2449 -
รัฐธรรมนูญของเอธิโอเปีย เมื่อ พ.ศ.2474
5. สำหรับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่
7 ทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
จนถึงกับมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ
(1) ฉบับแรกร่างโดยพระยากัลยาณไมตรี
(Dr. Francis B. Sayre) เมื่อปี 2467
(2) ฉบับที่สองร่างโดยนายเรมอนด์ บี สตีเวนส์
(Raymond B. Stevens) และพระยาศรีวิสารวาจา
(นายเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) เมื่อปี 2474
6 ตัวอย่างรัฐธรรมนูญประเภทผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
- รัฐธรรมนูญของกัมพูชาประชาธิปไตย
7. ตัวอย่างรัฐธรรมนูญประเภทราษฎรเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
- รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
เมื่อ พ.ศ.2332 -
รัฐธรรมนูญของรุสเซีย เมื่อ พ.ศ.2461
- รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
เมื่อ พ.ศ.2334
8. ตัวอย่างรัฐธรรมนูญประเภทประมุขของรัฐ
คณะปฏิวัติและราษฎรร่วมกันจัดให้มีขึ้น
- รัฐธรรมนูญของอังกฤษ
เมื่อ พ.ศ.2373 -
รัฐธรรมนูญของกรีก เมื่อ พ.ศ.2388
- รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
เมื่อ พ.ศ.2373 -
รัฐธรรมนูญของโรมาเนีย เมื่อ พ.ศ.2407
9. ตัวอย่างรัฐธรรมนูญประเภทผู้มีอำนาจจากรัฐภายนอกจัดให้มีขึ้น
- รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น
ฉบับปัจจุบัน -
รัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2478
เรื่องที่ 3.2.2 : อำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ
1. ในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นถือว่า
อำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ควบคู่กับอำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
ซึ่งสามารถแบ่งแยกประเภทผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนี้
(1) โดยบุคคลคนเดียว มักเกิดขึ้นจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร
(2) โดยคณะบุคคล กรณีที่มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
(3) โดยสภานิติบัญญัติหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อยกเลิกรัฐธรรม
นูญเก่าทั้งฉบับ
2. ในประเทศไทย เคยมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญสองครั้ง
- ครั้งแรกเมื่อปี
2491 (ร่างรัฐธรรมนูญใช้ปี 2492) - ครั้งที่สองเมื่อปี 2502 (ร่างรัฐธรรมนูญใช้ปี
2511)
3. ผลดีของการร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ
คือ
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากหลายวงการ
ทำให้ได้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป
- สมาชิกสภาร่างฯ มีเวลาทุ่มเทให้กับการจัดทำร่าง
โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับงานอื่น
- เป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง
และเป็นการประสานประโยชน์จากทุกฝ่าย
เรื่องที่ 3.2.3 : การจัดทำรัฐธรรมนูญ
1. รัฐธรรมนูญที่เป็นเจ้าตำรับในเวลานี้มี
4 ฉบับ คือ
- กฎหมายลายลักษณ์อักษรบางฉบับของอังกฤษ - รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
-
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา -
รัฐธรรมนูญของรุสเซีย
2. ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นเจ้าตำรับรัฐธรรมนูญในนานาประเทศกันอย่างแพร่หลาย
เช่น หลักเกณฑ์ที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
3. รัฐธรรมนูญสมัยใหม่มักมีข้อความยืดยาวมากกว่ารัฐธรรมนูญสมัยเก่า
เนื่องจาก
(1) ต้องการจะป้องกันการเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญผิดไป
(2) ต้องการจะขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ
ให้กว้างขวางคล่องตัวขึ้นกว่าเดิม
(3) ต้องการจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น
4. น่าสังเกตว่า รัฐธรรมนูญของประเทศที่เพิ่งได้เอกราชจากอังกฤษ
มักมีข้อความยาวและมีหลายมาตรา ที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยเหตุที่ว่า ต้องการทดแทนการอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นชิ้นเป็นอัน
5. การร่างรัฐธรรมนูญให้มีข้อความสั้นหรือยาวอย่างไรนั้น
มีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
(1) ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศ
(2) ประสิทธิภาพของศาลหรือสถาบันตุลาการรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญ
(3) สถานะของรัฐธรรมนูญอาจเป็นเครื่องกำหนดความสั้นยาวของรัฐธรรมนูญได้
6. การจัดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ
เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่แนวทางการเปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจทำได้หลายรูปแบบ
ดังนี้
(1) โดยการให้แสดงความคิดเห็นทั่วไปทางสื่อมวลชน
หรือการอภิปรายแก่สาธารณชน
(2) โดยการให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้แสดงประชามติ
(3) โดยการให้ผู้แทนประชาชนออกเสียงเห็นชอบ
หรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ
7. ตามรัฐธรรมนูญของไทย ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า
สมควรให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติ ควรปฎิบัติดังนี้
(1) ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการออกเสียงประชามติ
(2) ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันให้มีการออกเสียงประชามติ
(3) ผลของการออกเสียงประชามติให้ถือเสียงข้างมาก
3.1 ถ้าเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
3.2 ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วย พระมหากษัตริย์ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน
30 วัน
เรื่องที่ 3.2.4 : กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
1. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หมายถึง
กฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ ซึ่งแยกออกมาบัญญัติรายละเอียดต่างหากไปจากรัฐธรรมนูญ
มีผลดีคือ
(1) ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว
(2) ทำให้รัฐธรรมนูญมีข้อความและรายละเอียดน้อยจดจำง่าย
(3) ทำให้การแก้ไขกฎเกณฑ์รายละเอียดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่าย
(4) ทำให้สามารถวางรายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองได้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง
2. ตัวอย่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
เช่น
- กฎหมายเลือกตั้ง - กฎหมายวิธีพิจารณาความของตุลาการรัฐธรรมนูญ
- กฎหมายพรรคการเมือง - กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ
เรื่องที่ 3.2.5 : รัฐธรรมนูญไทย
1. หากจะนับจำนวนกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมดในประเทศไทย
ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2521
รวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ แต่ที่นับเป็นฉบับสำคัญนั้นมีเพียง
13 ฉบับ ดังนี้
(1) ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พ.ศ.2475
(2) ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475
(3) ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489
(4) ฉบับที่ 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490
(5) ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492
(6) ฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ.2495
(7) ฉบับที่ 13 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502
(8) ฉบับที่ 14 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511
(9) ฉบับที่ 15 ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2515
(10) ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517
(11) ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519
(12) ฉบับที่ 19 ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2520
(13) ฉบับที่ 20 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521
2. ประเด็นสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้ง
13 ฉบับ ได้แก่
(1) รัฐธรรมนูญฉบับแรก (ฉบับที่ 1) ของไทยเป็นฉบับชั่วคราว มีอายุการใช้งานประมาณ
6 เดือน
(2) รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” มี 2 ฉบับ
(ฉบับที่ 11, 14)
(3) รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย “สภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติ” มี
4 ฉบับ (ฉบับที่ 2, 6, 16, 20)
(4) รัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย “คณะรัฐประหาร คณะบริหารประเทศชั่วคราว คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป
การปกครองแผ่นดิน” มี 6 ฉบับ (ฉบับที่ 7,
12, 13, 15,18, 19)
(5) รูปแบบรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นแบบ
2 สภา คือ “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”
มีทั้งสิ้น 6 ฉบับ (ฉบับที่ 6, 7, 11, 14, 16, 20)
(6) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมาก ในเรื่องของการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
กับกิจกรรมทางการเมือง
(7) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 และฉบับที่ 16 ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมาก ในเรื่องวิธีการจัดทำ
และการคุ้ม
ครองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง
ตอนที่ 3.3 : การแก้ไขและยกเลิกรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3.3.1 : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
1. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หมายถึง
การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ว่าโดยการแก้ไขถ้อยคำหรือข้อความเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือโดยการเพิ่มเติมข้อความใหม่เข้าไป
2. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
มักเป็นเรื่องต่อไปนี้
- ลักษณะรัฐบาลแบบสาธารณรัฐ
- บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของราษฎรบางเรื่อง
- อาณาเขตประเทศ - ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของมลรัฐกับรัฐบาลกลาง
- ศาสนาประจำชาติ - ลักษณะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแบบสังคมนิยม
- ความเป็นเอกภาพ
3. รัฐธรรมนูญ อาจแก้ไขได้ใน
2 วิธี คือ
(1) แบบแก้ไขได้ง่าย หมายถึง รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยเงื่อนไขเช่นเดียวกับกฎหมายธรรมดา
เช่น รัฐธรรมชาติของอังกฤษ อิสราเอล นิวซีแลนด์
(2) แบบแก้ไขได้ยาก หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการแก้ไขสลับซับซ้อนแยะยุ่งยากกว่ากฎหมายธรรมดา
เช่นรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์ นอรเวย์ เดนมาร์ก
4. กระบวนการควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรให้มีลักษณะเป็นการแก้ไขยาก กระทำได้ดังนี้
(1) การควบคุมผู้เสนอแก้ไข
(2) การควบคุมผู้ดำเนินการพิจารณาแก้ไข
(3) การควบคุมวิธีการแก้ไข
(4) การควบคุมระยะเวลาการแก้ไข
(5) การให้ประมุขของรัฐบาลหรือประชาชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไข
5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญไทย ถือว่ามีวิธีการแก้ไขที่ยากกว่าการแกไขกฎหมายอื่น
มีขั้นตอนดังนี้
(1) ผู้ริเริ่มเสนอของแก้ไข ต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า
1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
(2) รูปแบบที่เสนอขอแก้ไข ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(3) การพิจารณาแก้ไข ให้ทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
โดยพิจารณาเป็น 3 วาระ คือ วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ วาระที่สองขั้นพิจารณารียงลำดับมาตรา
และวาระที่สามขั้นสุดท้ายเป็นการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ
(4) การประกาศใช้ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
6. การห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเด็ดขาดคงทำไม่ได้
เพราะจะเป็นการยั่วยุให้ผู้ประสงค์จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ แต่ควรกำหนดเป็นข้อห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราไว้
เรื่องที่ 3.3.2 : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
1. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ หมายถึง กระบวนการเลิกใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรทั้งฉบับ
ซึ่งกระทำได้ 2 วิธี
(1) การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในกรณีที่มีข้อความอันเป็นหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ
หรือไม่สอดคล้องกับจิตใจของประชาชนในขณะนั้น
(2) การยกเลิกรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นโดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร
2. โดยหลักการ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น
จะบัญญัติข้อความให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่กำลังใช้อยู่หรือไม่ก็ได้
3. หลัก Lex Posterior
Derogat Legi Priori หมายถึง หลักการที่ว่าในบรรดากฎหมายที่มีฐานะเท่ากัน
กฎหมายที่มาทีหลังย่อมยกเลิกกฎหมายที่มีมาก่อนได้
4. การปฏิวัติ
(Revolution) คือ พฤติการณ์ในการเลิกล้มหรือล้มล้างระบอบการปกครองหรือรัฐบาลซึ่งครองอำนาจอยู่แล้วนั้น
โดยใช้กำลังบังคับ แล้วสถาปนาระบอบการปกครองหรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่
5. การรัฐประหาร
(Coup d’ Etat) หมายถึง การใช้กำลังหรือการกระทำอันมิชอบเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
6. ในทางทฤษฎีนั้น การปฏิวัติมีความหมายแตกต่างจากรัฐประหาร 2 ประการ คือ
(1) การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบหนึ่ง
ไปสู่ระบอบหนึ่ง หรือมีการล้มล้างสถาบันประมุขเพื่อเปลี่ยนรูปแบบประมุขแห่งรัฐ ในขณะที่รัฐประหาร หมายความแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารประเทศโดยฉับพลัน
(2) การปฏิวัตินั้น ผู้กระทำการมักได้แก่ประชาชนที่รวมตัวกันขึ้น
หรือคณะบุคคลดำเนินการ ส่วนการรัฐประหารนั้น ผู้กระทำการมักได้แก่บุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลหรือมีส่วนอยู่ในรัฐบาล
หรือคณะทหาร
7. ในทางปฏิบัตินั้น คณะผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยไม่ว่าจะเรียกตนเองว่า
คณะราษฎร์ คณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อย่างไรก็ได้ เพราะผลในทางกฎหมายย่อมเหมือนกันคือ
ผู้กระทำการสำเร็จย่อมเป็น รัฏฐาธิปัตย์
8. ผลทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดอันเกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารที่กระทำสำเร็จคือ
คณะปฏิวัติหรือรัฐประหารย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยซึ่งเดิมเคยเป็นของผู้อื่น
ก็จะเปลี่ยนมือมาอยู่ที่คณะปฏิวัติหรือรัฐประหารนี้ทันที อันก่อให้เกิดผลย่อยๆ ดังนี้คือ
(1) ในทางรัฐศาสตร์นั้นถือว่า เมื่อปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จแล้ว
สถาบันการเมือง เช่น รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ย่อมถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว
(2) เมื่อคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว
ความผิดฐานกบฏก็ดีหรือฐานอื่นก็ดี ย่อมถูกลบล้างไปหมด โดยถือเสมือนหนึ่งไม่เคยกระทำผิดมาก่อน
ตอนที่ 3.4 : โครงร่างของรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3.4.1 : คำปรารภของรัฐธรรมนูญ
1. โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
- คำปรารภหรือคำนำของรัฐธรรมนูญ - เนื้อความของรัฐธรรมนูญ
2. คำปรารภ หมายถึง บทนำเรื่องรัฐธรรมนูญ
ซึ่งอาจแสดงเหตุผลแห่งการมีรัฐธรรมนูญฉบับนั้น หรืออาจวางหลักพื้นฐานทั่วไปของรัฐธรรมนูญ
หรือพรรณนาเกียรติคุณของผู้จัดทำก็ได้
3. ปัญหาที่ว่า คำปรารภจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ประการใดนั้น
นักกฎหมายมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย คือ
(1) ฝ่ายที่เห็นว่า คำปรารภมีความสำคัญอย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกับตัวบทกฎหมาย
คือ นักกฎหมายของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ และนักกฎหมายประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์
(2) ฝ่ายที่เห็นว่า คำปรารภมิใช่กฎหมาย
เป็นคนละส่วนกับตัวบทมาตรา คือ นักกฎหมายสหรัฐอเมริกา และประเทศในภาคพื้นยุโรป
4. ประโยชน์ของคำปรารภของรัฐธรรมนูญ
คือ
(1) ช่วยให้รัฐธรรมนูญสละสลวยขึ้น
(2) ช่วยในการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
(3) ช่วยให้ทราบประวัติการเมืองของประเทศนั้น
(4) ช่วยให้ทราบประวัติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
5. ข้อความที่ปรากฏในคำปรารภ มักมีข้อความดังต่อไปนี้
- ข้อความแสดงให้ทราบที่มาหรืออำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
- ข้อความที่แสดงให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ข้อความที่แสดงวัตถุประสงค์ในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ
หรือปณิธานของรัฐธรรมนูญ
- ข้อความที่แสดงถึงอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
- ข้อความที่แสดงถึงประวัติของชาติ
- ข้อความประกาศสิทธิและเสรีภาพของราษฎร
6. สำหรับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ในเรื่องเกี่ยวกับคำปรารภนั้น
มีข้อสังเกตดังนี้
- มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่บัญญัติคำปรารภไว้สั้นๆ
คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่น
ดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475
- รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
มักจะมีข้อความในคำปรารภสั้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร
- รัฐธรรมนูญของไทยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า
มักจะมีคำปรารภยืดยาว
เรื่องที่ 3.4.2 : เนื้อความของรัฐธรรมนูญ
1. ในส่วนของเนื้อความตามบทมาตราของรัฐธรรมนูญนั้น
จะว่าด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) กฎเกณฑ์การปกครองประเทศ (มีความสำคัญที่สุด)
(2) บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(3) กฎเกณฑ์อื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ
- กฎการแก้ไขเพิ่มเติม - แนวนโยบายแห่งรัฐ
- ความเป็นกฎหมายสูงสุด - บทเฉพาะกาล
- หน้าที่พลเมือง
2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ จึงควรมีความสูงสุดเหนือกฎหมายอื่นใด
ซึ่งมีผล 2 ประการ คือ
(1) การเปลี่ยนแปลงแก้ไขและยกเลิก ย่อมทำได้ยากกว่ากฎหมายธรรมดา
(2) สิ่งใดจะมาขัดขวางหรือขัดแย้งมิได้
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีก่อนหรือมีหลังรัฐธรรมนูญก็ตาม
ตอนที่ 3.5 : รูปของรัฐและรูปแบบของประมุขของรัฐ
เรื่องที่ 3.5.1 : รูปของรัฐ
1. รูปของรัฐตามตำรารัฐศาสตร์ จำแนกได้
3 รูปแบบ คือ
(1) รัฐเดี่ยว (Unitary State ) (3) รัฐรวมหลายรัฐ
(Federation)
(2) รัฐรวมสองรัฐ (Union )
2. รัฐเดี่ยว คือ รัฐซึ่งเป็นเอกภาพ ไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน
มีการใช้อำนาจสูงสุดทั้งภายในและภายนอกโดยองค์การเดียวกันทั่วดินแดนของรัฐ ประเทศที่มีรูปของรัฐเป็นรัฐเดี่ยว
ได้แก่ สเปน โปรตุเกส ญี่ปุ่น นอรเวย์
3. รัฐรวมสองรัฐ คือ รัฐซึ่งมารวมเข้าด้วยกันสองรัฐ
โดยมีประมุขร่วมกันหรือโดยการใช้อำนาจภายนอกร่วมกัน แต่ใช้อำนาจภายในแยกจากกัน แบ่งออกเป็น
2 ประเภท คือ
(1) รัฐรวมที่มีประมุขร่วมกัน
(Personal Union) ปัจจุบันรัฐแบบนี้ไม่มีแล้ว
(2) รัฐรวมที่ใช้อำนาจภายนอกร่วมกัน ปัจจุบันรัฐแบบนี้ไม่มีแล้ว
4. รัฐรวมหลายรัฐ คือ การรวมตัวของรัฐต่างๆ
มากกว่าสองรัฐขึ้นไป ด้วยความสมัครใจของทุกรัฐ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน รัฐแบบนี้มี
2 ประเภท คือ
(1) สมาพันธรัฐ
(Confederation) ปัจจุบันไม่มีรัฐแบบนี้แล้ว
(2) สหรัฐ (United States ) เช่น สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรต
5. สหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งประเทศเป็นสมาพันธรัฐ
แต่เหตุการณ์ต่อมาแสดงให้เห็นว่า รัฐรวมแบบสมาพันธรัฐอ่อนแอมาก ไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้
ต่อมาในปี พ.ศ.2332 จึงได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดรูปของรัฐให้เป็นแบบสหรัฐ
6. รูปของรัฐแบบใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกา
นั้น ต่อมาได้กลายเป็นแม่แบบให้แก่ประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์
เยอรมัน อินเดีย มาเลเซีย
7. การกำหนดรูปแบบสหรัฐทำได้โดยการแบ่งอำนาจรัฐบาลออกเป็น
2 ส่วน กล่าวคือ
(1) อำนาจของรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ
(Federal Government)
(2) อำนาจของรัฐบาลแห่งมลรัฐ
(State Government)
เรื่องที่ 3.5.2 : รูปของรัฐตามรัฐธรรมนูญไทย
1. รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติเสมอว่า
“ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
(1) ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว (2) ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร
2. คำว่า “ราชอาณาจักร” มี 2 ความหมาย คือ
(1) ในประมวลกฎหมายอาญา หมายถึง ดินแดนที่เป็นของประเทศไทยทั้งหมด
(2) ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึง รัฐซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3. ราชอาณาจักร มี 2 ประเภท คือ
(1) สหราชอาณาจักร (United Kingdom ) ซึ่งประกอบด้วย บริเตนใหญ่
(Great Britain )
ได้แก่ อังกฤษ
สกอตแลนด์ เวลล์ และไอร์แลนด์
(2) ราชอาณาจักร
(Kingdom) ซึ่งมีดินแดนเดียวกันตลอด
เช่น ราชอาณาจักรไทย
เรื่องที่ 3.5.3 : รูปแบบของประมุขของรัฐ
1. รูปแบบของประมุขของรัฐ ซึ่งประเทศต่างๆ
นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ
(1) ประมุขของรัฐแบบประธานาธิบดี
(2) ประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์
2. ประมุขของรัฐแบบประธานาธิบดี แบ่งตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินได้
3 ประเภท คือ
(1) ประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ
และประมุขของฝ่ายบริหาร
- เป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง
ทำหน้าที่ทั้งประมุขของรัฐและประมุขฝ่ายบริหาร
- รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน
เพราะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน
- รัฐมนตรีที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งเป็นเสมือนที่ปรึกษาและรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี
- เป็นการแบ่งแยกอำนาจค่อนข้างเคร่งครัด
กล่าวคือ รัฐสภาไม่อาจควบคุมการบริหารของ
ประธานาธิบดี ขณะเดียวกันประธานาธิบดีไม่อาจยุบสภาได้เช่นกัน
- เป็นการปกครองที่มีระบบการคานและดุล
(Check and Balance)
- การปกครองระบอบนี้มีตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา
เม็กซิโก อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย
(2) ประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ
โดยมิได้เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร
- เป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง
มีฐานะประมุขของรัฐคล้ายพระมหากษัตริย์
- ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง
- มีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหาร
และคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการบริหาร
ราชการแผ่นดิน
- การปกครองระบอบนี้มีตัวอย่างในประเทศอินเดีย
สิงคโปร์ เยอรมัน
(3) ประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐ ซึ่งร่วมกันบริหารราชการแผ่นดินกับนายกรัฐมนตรี
- ประธานาธิบดีเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
- เป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ
และนโยบายทางการเมือง
3. ประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์ จำแนกตามพระราชอำนาจและพระราชฐานะออกเป็น
3 ประเภท คือ
(1) พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(Absolute Monarchy)
- ทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์
- ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ
บริหาร และตุลาการได้โดยลำพังพระองค์
- พระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เป็นที่สุด
(2) พระมหากษัตริย์ในระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์
(Limited Monarchy)
- พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกประการ
แต่ถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
- อำนาจบริหารเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
- การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของผู้พิพากษา
- การปกครองระบอบนี้มีตัวอย่างในประเทศเอธิโอเปีย
สมัยพระจักรพรรดิไฮเลเซลาสซี
ประเทศญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
และประเทศซาอุดีอาระเบีย
(3) พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
(Constitutional Monarchy)
- มีในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเท่านั้น
- ไม่ได้เป็นประมุขฝ่ายบริหาร
เพราะมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่แล้ว
- การปกครองระบอบนี้มีตัวอย่างในประเทศไทย
ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน
4. มีข้อพิจารณาว่า รูปแบบของประมุขของรัฐแบบใดจะดีกว่ากัน
ซึ่งมีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
(1) ฝ่ายที่เห็นว่ารูปแบบประมุขแบบประธานาธิบดีน่าจะดีกว่า
โดยให้เหตุผลว่า
- ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่าง
แท้จริง
- หากประธานาธิบดีปฏิบัติไม่เหมาะสมก็มีทางแก้ไขโดยวิธีไม่เลือกตั้งให้เป็นอีกต่อไป
(2) ฝ่ายที่เห็นว่ารูปแบบพระมหากษัตริย์น่าจะดีกว่า
โดยให้เหตุผลว่า
- พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติศักดิ์
- พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง
- พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขถาวร
- พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติ
และความสามัคคีของคนในชาติ
5. การเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขของรัฐแบบพระมหากษัตริย์
อาจทำได้หลายวิธี
(1) ปราบดาภิเษก เป็นการครองราชสมบัติโดยวิธียกตนขึ้นเป็นกษัตริย์
(2) การสืบราชสมบัติ เป็นการขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบรรพบุรุษ
(3) การสืบราชสมบัติโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา
เป็นการขึ้นครองราชสมบัติต่อจากบรรพบุรุษ
แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
(4) การครองราชสมบัติโดยวิธีเลือกตั้งระหว่างผู้มีสิทธิ
เช่น การขึ้นครองราชสมบัติในมาเลเซีย
6. สำหรับประมุขของประเทศไทย มีหลักการที่น่าสนใจดังนี้
(1) ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(2) มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
พ.ศ.2467 ซึ่งถือเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง
(3) กรณีที่ราชบัลลังค์ว่างลง หรือพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร
หรือทรงบริหาร
พระราชภาระไม่ได้ เช่น ทรงผนวช
ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(4) พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน
15 คน ประกอบเป็นองคมนตรี
มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง
(5) พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบทางการเมือง
จึงต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(6) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผลให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร
(7) พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
(8) พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
แต่ก็ทรงอยู่เหนือกฎหมายในลำดับรองลงมาโดยอัตโนมัติ
(9) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น