ระบอบการปกครอง
ตอนที่ 4.1 : ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
เรื่องที่ 4.1.1 : วิวัฒนาการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
1. การปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยเริ่มแรกนั้น
เกิดในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล
เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง กล่าวคือ ประชาชนชาวเอเธนส์ทั้งหมดเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง
ด้วยการประชุมร่วมกัน
2. หลังจากที่ประชาธิปไตยโดยตรงได้ล่มสลายไปจากนครเอเธนส์ การปกครองแบบประชาธิปไตยหยุดชะงักไปนับพันปี
จึงได้เริ่มก่อรูปขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ
3. วิวัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศอังกฤษ
สืบเนื่องมาจาก
(1) สภาพสังคมผู้ปกครองในอังกฤษเวลานั้น
เป็นสังคมศักดินา บรรดาขุนนางเจ้าที่ดินมีหน้าที่รับใช้กษัตริย์ และเป็นผู้มีอภิสิทธิ์ในทางการเมือง
(2) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อังกฤษส่งแกะเป็นสินค้าออกประมาณปีละ 8 ล้านตัว ด้วยเหตุนี้
บรรดาขุนนางเจ้าที่ดินต่างหันมาเลี้ยงแกะในที่ดินของตน และได้ประกอบธุรกิจร่วมกับพ่อค้าและนายหน้าตัวแทน
ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง จนในที่สุดกลายเป็นพวกเดียวกัน
(3) ทัศนคติแบบศักดินาของบรรดาขุนนางเจ้าที่ดินทั้งหลายเริ่มเปลี่ยนไปเป็นทัศนคติแบบนายทุน
ที่ดินกลายเป็นทุนในการผลิตและเป็นแหล่งที่มาของรายได้
(4) ชนชั้นกลางจึงมีบทบาทและอำนาจในรัฐสภาเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมีบรรดาขุนนางเจ้าที่ดินเป็นพวกด้วย รัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงบทบาทไปเป็นเครื่องถ่วงดุลอำนาจกษัตริย์มากขึ้น
จนเกิดระบบการปกครองที่เรียกว่า “ระบบกษัตริย์มีอำนาจจำกัด” กล่าวคือ
- กษัตริย์ยังคงเป็นประมุขของประเทศ
และเป็นหัวหน้ารัฐบาล
- กษัตริย์ต้องยอมรับอำนาจอิสระของผู้พิพากษาและของรัฐสภา
(5) ปี ค.ศ.1647
พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ถูกดำเนินคดีและถูกประหารชีวิต
รัฐสภามีวิวัฒนาการไปอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากกษัตริย์มีอำนาจจำกัด
ไปเป็นระบบรัฐบาลแบบรัฐสภา กล่าวคือ มีองค์กรที่เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศ
(6) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ยอมสละอำนาจในการลงนามในกฎหมายที่รัฐสภาเสนอ และนับแต่นั้นมา รัฐสภามีอำนาจเต็มที่ในการบัญญัติกฎหมาย ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ประเทศอังกฤษมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(7) ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส
การปกครองในระบอบดังกล่าวจึงแพร่หลายไปทั่วในประเทศยุโรปตะวันตก
เรื่องที่ 4.1.2 : ความหมายของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
1. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามความเห็นของ
ดร.กมล สมวิเชียร หมายถึงการปกครองที่มีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ
3 ประการ คือ
(1) ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง
(2) ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว
(3) สิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานของประชาชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง
2. แนวความคิดประชาธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครอง
ตามความเห็นของ ดร.ชัยอนันต์ คือ
(1) มนุษย์มีความสามารถ มีสติปัญญา รู้จักใช้เหตุผล
ทำให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครองที่ใช้หลักการประชุมปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
(2) ความเป็นอิสระและเสรีภาพของมนุษย์
ทำให้เกิดรูปแบบและวิธีการปกครองที่มีการวางขอบเขตอำนาจและหน้าที่
(3) ความเท่าเทียมกันของคนก่อให้เกิดการคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
(4) อำนาจอันชอบธรรมทางการปกครอง เกิดจากการให้ความยินยอมของประชาชน
(5) อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน
(6) สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ
3. โดยสรุป หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
คือ
(1) เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
(2) เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ
เรื่องที่ 4.1.3 : องค์ประกอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
1. องค์ประกอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ได้แก่
(1) การเลือกตั้ง (3) หลักการว่าด้วยความถูกต้องแห่งกฎหมาย
(2) หลักการแบ่งแยกอำนาจ
2. ฌอง ฌาคส์ รุสโซ นักคิดทางการเมืองคนสำคัญได้อธิบายในหนังสือ “สัญญาประชาคม”
ไว้ว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชาติ
และมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน
3. หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี
ค.ศ.1789 แนวความคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
ได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
4. ในทางปฏิบัตินั้น ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างทั่วถึง
ประชาชนจึงมอบอำนาจให้แก่บุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ปกครองในประเทศแทนประชาชน การมอบอำนาจดังกล่าวเรียกว่า
“การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร” ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย
5. การเลือกตั้งตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) การเลือกตั้งต้องกระทำโดยเสรี ไม่มีการบังคับหรือจ้างวานหรือใช้อิทธิพลใดๆ
(2) การเลือกตั้งต้องมีการกำหนดสมัยเลือกตั้งไว้แน่นอนชัดเจน
(3) การจัดการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม
(4) การออกเสียงเลือกตั้งต้องให้ประชาชนมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริง
ไม่มีข้อจำกัดกีดกัน
(5) แต่ละคนมีคะแนนเสียงเพียงเสียงเดียว
และทุกคะแนนเสียงย่อมมีน้ำหนักเท่ากัน
(6) การลงคะแนนเสียงต้องไม่มีการใช้อิทธิพลบังคับ
ข่มขู่ หรือให้สินจ้างรางวัล
6. ระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แบ่งออกเป็น
3 รูปแบบ คือ
(1) การเลือกตั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
(2) การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต
(3) การเลือกตั้งตามเสียงข้างมากและแบบสัดส่วน
7. ประเทศไทยเคยมีการเลือกตั้งแล้ว
2 รูปแบบ คือ การเลือกตั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบรวมเขต
8. การแบ่งแยกอำนาจ มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ
ป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจซึ่งเป็นอธิปไตยของชาติตกไปอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
9. มองเตสกิเออ นักคิดทางการเมืองคนสำคัญชาวฝรั่งเศสได้อธิบายในหนังสือ “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” ไว้เกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น
3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจที่จะปฏิบัติกิจการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน
และอำนาจที่จะปฏิบัติกิจการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายเอกชน
10. มองเตสกิเออ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า
“องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ทั้ง 3 องค์การ ต้องแยกจากกันและเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน
เสรีภาพของประชาชนจะมีไม่ได้หรือมีเป็นส่วนน้อย ถ้าหากอำนาจเหล่านี้ไปรวมอยู่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง”
11. ความเห็นของมองเตสกิเออ มีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐอเมริกา
และถือเป็นหลักในการจำแนกระบบการปกครองของประเทศต่างๆ ว่าเป็นระบบประธานาธิบดี หรือระบบรัฐสภา
12. หลักการแบ่งแยกอำนาจ มีข้อพิจารณาดังนี้
- เป็นการจัดระเบียบอำนาจในลักษณะที่ไม่ให้มีการรวมการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ
- ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องให้องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสามอำนาจมีความเท่าเทียมกัน
- ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกอำนาจจากกันโดยเด็ดขาด
โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
13. การที่รัฐสภาจะถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น
จำเป็นที่รัฐสภาต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
(1) ความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีองค์ประกอบในการพิจารณา คือ
- การเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
- สถานส่วนตัวของสมาชิกรัฐสภา
ต้องได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่
(2) ความเป็นอิสระในการดำเนินงานของรัฐสภา
- สมัยประชุมของรัฐสภา
ต้องมีการกำหนดสมัยประชุมไว้แน่นอน
- องค์กรภายในของรัฐสภา
มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย
หรือตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร
- อำนาจของรัฐสภา
ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 3 ประการคือ
* อำนาจในการจำกัดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
* อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร
* อำนาจในการเรียกร้องและคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
14. หลักการที่ว่าด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย
มีความหมาย 2 ประการ ดังนี้
(1) ผู้มีอำนาจปกครอง ซึ่งหมายถึงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
จะใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจไม่ได้ การใช้อำนาจปกครองจะต้องสอดคล้องถูกต้องตามกฎหมายทั้งหลายที่ใช้บังคับอยู่
(2) รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุด
กฎมายที่มีลำดับศักดิ์รองลงมาจะมีบทบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
เรื่องที่ 4.1.4 : รูปแบบของรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
1. รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
แบ่งออกเป็น 3 ระบอบ คือ
(1) ระบบการปกครองแบบรัฐสภา (3) ระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี
(2) ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี
2. ระบบการปกครองแบบรัฐสภา มีข้อพิจารณาดังนี้
(1) เป็นระบบการปกครองที่อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารและองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเท่าเทียมกัน
(2) ทั้งสองฝ่ายต่างควบคุมซึ่งกันและกัน
(3) มีการประสานงานกันในการดำเนินการต่อกัน
(4) ฝ่ายบริหารมีส่วนในการเสนอร่างกฎหมาย
3. ฝ่ายบริหารตามระบบการปกครองแบบรัฐสภา
แบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ
(1) องค์กรประมุขของรัฐ
- เป็นกษัตริย์ที่สืบทอดราชวงศ์ต่อๆ
กันมา หรือประธานาธิบดีซึ่งมาจาการเลือกตั้งทางอ้อม
- ประมุขของรัฐมีฐานะหรือบทบาทในทางพิธีการเท่านั้น
(2) องค์กรคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล
- มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
หรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร
- คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภาร่วมกัน
- รัฐสภาสามารถลงมติไม่ไว้วางในรัฐบาล
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภา
4. การจัดตั้งรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี
มีวิธีการ 2 วิธี คือ
(1) วิธีการแรก สภามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล
- เป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลาย
โดยรัฐสภามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน
- นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกบุคคลมาร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี
- ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารงานเพื่อขอมติไว้วางใจ
(2) วิธีที่สอง สภาไม่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล
- เป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
- การตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา
5. ระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี มีข้อพิจารณาดังนี้
(1) เป็นระบบการปกครองที่ประธานาธิบดี
เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
(2) รัฐมนตรีที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งมีฐานะเพียงที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในการบริหารบ้านเมือง
(3) รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีแต่ผู้เดียว
(4) ฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) และรัฐสภา ต่างทำหน้าที่เป็นอิสระต่อกันและกัน
(5) ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาโดยตรง
แต่สามารถใช้วิธีการทางอ้อมได้ โดยวิธี
สำคัญ คือ “สุนทราพจน์ของประธานาธิบดีที่กล่าวต่อรัฐสภา” (State of Union )
6. “The Impeachment” เป็นวิธีการคานดุลอำนาจระหว่างรัฐสภาและประธานาธิบดี
ในระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองที่แบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาด
ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ประธานาธิบดีมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
แต่รัฐสภาก็มีอำนาจดำเนินคดีกับประธานาธิบดีด้วยวิธีการนี้
7. ระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี มีข้อพิจารณาดังนี้
(1) เป็นระบบการปกครองที่ใกล้เคียงกับระบบการปกครองแบบรัฐสภามากกว่า
(2) รัฐสภาสามารถถอดถอนหัวหน้ารัฐบาลและคณะรัฐบาล
ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภา
(3)
ฝ่ายบริหารแบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ องค์กรประธานาธิบดี
และองค์กรคณะรัฐมนตรี โดยองค์กร
คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา
(4) ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
(5) ตัวอย่างประเทศที่มีระบบการปกครองแบบนี้คือ
ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฟินแลนด์ ปอร์ตุเกส ไอร์แลนด์
และไอซ์แลนด์
ตอนที่ 4.2 : ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ
เรื่องที่ 4.2.1 : ความหมายของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ
1. ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ มีความหมายเป็น
2 นัย กล่าวคือ
(1) เป็นระบอบการปกครองชั่วคราวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกปักรักษาระบอบการปกครองเดิมที่เผชิญกับวิกฤติการณ์ร้ายแรงในทางสังคม
อันอาจเป็นอันตรายต่อสถาบันการเมืองการปกครองที่มีอยู่ในขณะนั้น
(2) เป็นระบอบการปกครองที่อำนาจปกครองของรัฐบาลไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่มีโอกาสถอดถอนรัฐบาลซึ่งตนไม่พอใจ และเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาล
2. ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ แบ่งตามระบบเศรษฐกิจออกเป็น
2 กลุ่ม คือ
(1) การปกครองแบบเผด็จการของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
(2) การปกครองแบบเผด็จการของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
เรื่องที่ 4.2.2 : ระบอบการปกครองแบบเผด็จการของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยอมให้เอกชนเป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิต
และเปิดโอกาสให้เอกชนแข่งขันกันในการประกอบการทางเศรษฐกิจ รัฐจะเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
2. การปกครองแบบเผด็จการ จะเกิดขึ้นเมื่อสังคมของประเทศเกิดวิกฤติ
ซึ่งแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
(1) วิกฤติการณ์ในสังคม (ความวุ่นวายจากการเรียกร้อง ประท้วง และเดินขบวน)
(2) วิกฤติการณ์เกี่ยวกับความชอบธรรมแห่งอำนาจการปกครอง
(ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของกลุ่ม
การเมือง)
3. การปกครองแบบเผด็จการ แบ่งออกเป็น
2 ประเภท คือ
(1) เผด็จการแบบปฏิวัติ เป็นเผด็จการชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
กล่าวคือ เป็นเผด็จการที่พยายามเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อทดแทนแบบเดิม
(2) เผด็จการแบบปฏิรูป เป็นเผด็จการแบบอนุรักษ์นิยม กล่าวคือ
เป็นเผด็จการที่ไม่ได้มุ่งหมายที่จะนำระบบการเมืองแบบใหม่ทั้งหมด มาทดแทนที่มีอยู่เดิม
ยังคงอาศัยพึ่งพากันอยู่
4. สถาบันการเมืองของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ
ประกอบด้วย
(1) กำลังทหาร เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองหรือสนับสนุนระบบเผด็จการ
(2) พรรคการเมืองแบบพรรคเดียว เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
ช่วยเผย
แพร่ความรู้ทางการเมือง โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง
5. วิธีการทำให้ประชาชนยอมรับอำนาจปกครองแบบเผด็จการ
มี 2 แนวทาง คือ
(1) การปราบปราม
- การปราบปรามประชาชนที่โต้แย้งคัดค้านระบบเผด็จการ
จะใช้วิธีการทางกฎหมาย ศาล และ
ตำรวจ แต่ถ้าต้องการปราบปรามเด็ดขาด
จะใช้ตำรวจลับ
- การกำจัดศัตรูทางการเมือง จะใช้ตำรวจติดตามเฝ้ามองพฤติกรรมต่างๆ
ก่อน
- วิธีการต่างๆ ที่ใช้ปราบปรามคือ การจับกุมคุมขัง การส่งตัวไปกักกันในค่าย
การทรมาน และ
การประหารชีวิต
(2) การโฆษณาชวนเชื่อ
- รูปแบบและวิธีการโฆษณาชวนเชื่อขึ้นอยู่กับว่าเป็นเผด็จการแบบไหน
6. รูปแบบของการปกครองแบบเผด็จการในระบบทุนนิยม
แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
(1) การปกครองแบบเผด็จการฟาสซิสม์
- เป็นการปกครองของประเทศอุตสาหกรรม
- เป็นการปกครองที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียว
- เป็นการปกครองที่จัดให้มีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบทันสมัย
(2) การปกครองแบบเผด็จการที่อาศัยพรรคการเมืองพรรคเดียว
- มักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
- มักเป็นเผด็จการแบบอนุรักษ์นิยม
(3) การปกครองแบบเผด็จการทหาร
- มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา
- มีทั้งแบบทหารเป็นผู้ปกครอง
และแบบทหารอยู่เบื้อหลังให้พลเรือนปกครอง
7. สถาบันการเมืองการปกครองของเผด็จการแบบฟาสซิสม์
ได้แก่
(1) พรรคการเมืองแบบพรรคเดียว เป็นเครื่องค้ำจุนการปกครองแบบฟาสซิสม์มากกว่ากองทัพ
(2) การจัดตั้งสมาคมอาชีพ โดยรวมกิจการประเภทเดียวกันของเอกชนให้องค์กรของรัฐดูแล
(3) การโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยคำขวัญ สัญลักษณ์ขิงพรรค และภาพผู้นำ
ผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ
(4) การปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ด้วยวิธีการรุนแรงและเหี้ยมโหด โดยใช้ตำรวจลับ
8. คำว่า “โฟรบันซิอามิเอ็นโด” เป็นระบบเผด็จการที่กองทัพไม่ได้เข้ามามีอำนาจปกครองเอง
แต่จะใช้วิธีการสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งหรือคณะบุคคลพลเรือนหนึ่ง ให้เป็นหัวหน้าปกครองประเทศ
9. คำว่า “เพลโตเลียน” หมายถึง เผด็จการทหารที่ทหารเข้ามาปกครองประเทศ
โดยมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ของทหารด้วยกัน แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน
เรื่องที่ 4.2.3 : ระบอบการปกครองแบบเผด็จการของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
1. ลักษณะสำคัญของประเทศสังคมนิยม ได้แก่
(1) เป็นสังคมที่เครื่องมือในการผลิตเป็นของส่วนรวม
ซึ่งอาจเป็นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นหรือของสหกรณ์
(2) เอกชนสามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้
แต่การประกอบกิจการนั้นต้องไม่มีความสำคัญต่อ
ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
(3) ระบบเศรษฐกิจนั้น ยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสม์เป็นสำคัญ
(4) ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง โดยมีพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว
(5) ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางสังคมและอุดมการณ์สังคมนิยม
2. ลัทธิมาร์กซิสม์ มีความเห็นว่า มนุษย์ยังไม่อาจมีเสรีภาพได้
ตราบใดที่ยังมีเอกชนเป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิต และมีการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
3. อุดมการณ์ของมาร์กซิสม์ในเรื่องรัฐและอำนาจทางการเมือง
คล้ายกับอุดมการณ์เสรีนิยม กล่าวคือ รัฐและอำนาจทางการเมือง หมายถึง สิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องมือในการปกครองในการใช้อำนาจ
เช่น กำลังตำรวจ กำลังทหาร ศาล และคุก เป็นต้น
4. ตามความเห็นของพวกมาร์กซิสม์ ทฤษฎีว่าด้วยรัฐและอำนาจทางการเมือง
สามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ ซึ่งมี 3 ขั้นตอน คือ
(1) รัฐมีฐานะเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจปกครองของชนชั้นหนึ่ง
ต่ออีกชนชั้นหนึ่ง
(2) รัฐมีฐานะเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคม
ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
(3) รัฐจะหมดสภาพสิ้นสูญไปจากสังคมมนุษย์
5. ทฤษฎี “จาโคแบงค์” ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีมาร์กซิสม์ ที่ว่าด้วยการใช้อำนาจเผด็จการ มีรายละเอียด
ดังนี้
(1) ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นสมัยปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส
(2) จาโคแบงค์ คือกลุ่มบุคคลที่ได้อำนาจรัฐเมื่อเดือนมิถุนายน
ค.ศ.1793 ซึ่งตอนนั้นมีกองทัพต่างชาติ
บุกรุกเข้าประเทศฝรั่งเศสถึง
5 ประเทศ และเขตปกครองต่างๆ ภายในประเทศก็แตกแยก
(3) จาโคแบงค์ จึงต้องใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศ
(4) ทฤษฎีจาโคแบงค์ มีหลักการสำคัญ ดังนี้คือ
- การปกครองแบบเผด็จการต้องเด็ดขาดและแข็งกร้าว
เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย
- การใช้อำนาจเผด็จการ
เพียงเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงนิสัยที่เคยชินของประชาชน
- เป็นระบบการปกครองแบบเผด็จการชั่วคราวเท่านั้น
เรื่องที่ 4.2.4 : รัฐธรรมนูญของประเทศเผด็จการสังคมนิยม
1. การปกครองของประเทศเผด็จการสังคมนิยม
มีส่วนคล้ายและต่างกับประเทศในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ
(1) มีรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มีการเลือกตั้งทั่วไป และมีรัฐสภา
(2) การปกครองโดยการผสมผสานระหว่างสถาบันการเมืองกับการเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์
ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว
(3) การเลือกตั้งทั่วไปนั้นใช้วิธีให้การรับรองผู้สมัครรับการเลือกตั้ง
ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจคัดเลือก
(4) มีรัฐสภาทำหน้าที่ควบคุมและจำกัดอำนาจของฝ่ายรัฐบาล
แต่การแบ่งแยกอำนาจนั้น ฝ่ายรัฐบาลจะมีอำนาจกว้างขวางกว่า ส่วนฝ่ายรัฐสภามีอำนาจค่อนข้างจำกัด
2. สาเหตุที่ต้องให้อำนาจของฝ่ายรัฐบาลมากกว่า
เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 3 ประการ
(1) พรรคคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลครอบงำกลไกต่างๆ
ของรัฐ
(2) กฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของจุดมุ่งหมายแห่งการปฏิวัติ
(3) ความอ่อนแอของรัฐสภา
3. ลักษณะโดยทั่วไปของประเทศเผด็จการสังคมนิยม
ได้แก่
(1) อำนาจทางการเมืองใช้อยู่
2 ทางคือ ทางกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ และกลไกของรัฐ
(2) กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจเหนือกว่ากลไกของรัฐ
(3) ผู้นำที่แท้จริงคือ ผู้นำพรรค ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
(4)
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากเป็นกรณีที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิวัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น