วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แนวคิดทางการเมืองสมัยโบราณ

แนวคิดทางการเมืองสมัยโบราณ

๑.ชาวกรีกใช้เหตุผลแสวงหาสิ่งสากล
ความคิดทางปรัชญาการเมืองแบบตะวันตก  เริ่มขึ้นในกรีกสมัยโบราณ  กรีกอธิบายปรัชญาการเมืองด้วยหลักเหตุผล  มิใช่อาศัยความเชื่อในสิ่งที่พ้นขอบเขตเหตุผล  เช่น  พระเจ้าหรือเทพเจ้า  ทั้ง ๆ ที่ชาวกรีกโดยทั่วไปก็เป็นพวกนับถือเทพเจ้าหลายองค์อยู่  อย่างที่เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า  พหุเทวนิยม  (polytheism)  แม้ว่าชาวกรีก  จะเชื่อว่า  เทวดามีอำนาจมากกว่ามนุษย์  และชีวิตมนุษย์ต้องเป็นไปตามที่ชะตากำหนด  แต่ชาวกรีกก็ไม่ย่อมปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามยถากรรม  พวกเขานิยมการต่อสู้  การคิดตัดสินด้วยเหตุผล  ยกย่องความคิดอิสระ  ลักษณะเช่นนี้  แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในละครโศกนาฏกรรม  (tragedy)  กรีกโบราณ  ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้ของบุคคลที่สูงส่งกับชะตาชีวิตของตนและอำนาจของเทพเจ้า  แสดงให้เห็นว่า 
ความหายนะของบุคคลที่สูงส่งนั้นดำเนินไปอย่างมีเหตุผล  มิใช่จากการบันดาลของเทพเจ้า  น้ำใจที่เป็นนักนิยมเหตุผลและการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้  ปรากฏอย่างชัดเจนในปรัชญาของชาวกรีกซึ่งพยายามอธิบายปัญหาต่าง ๆ โดยไม่อ้างอำนาจหรือเจตจำนงของเทพเจ้าเลย  แต่อธิบายปัญหาอย่างลึกซึ้งเท่าที่เหตุผลของมนุษย์จะนำไปถึงได้
แม้ว่าการปกครองของกรีกจะเป็นแบบนครรัฐ  (city-state)  คือ แต่ละรัฐมีอิสรภาพ  มีเขตแดนของตน  เลี้ยงตนเองและป้องกันเอง  โดยที่มีระบอบการปกครองแตกต่างกันไป  ปราชญ์กรีก จะไม่ถามปัญหาว่ารัฐใดปกครองดีที่สุด  แต่จะถามปัญหาว่าการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร  รัฐที่ดีเป็นอย่างไร  และในการตอบปัญหานี้ก็ตอบปัญหาสากลย่อย ๆ ลงไปอีก  เช่น  พลเมืองคืออะไร  พลเมืองกับรัฐมีหน้าที่และความสัมพันธ์กันอย่างไร  อำนาจอธิปไตยมาจากไหน  อะไรคือจุดมุ่งหมายของรัฐ  และการปกครองเพื่อให้ประชาชนไปสู่จุดหมายชีวิตต้องทำอย่างไร

๒.ความคิดทางการเมืองกรีกในสมัยของโฮเมอร์
 ในสมัยโฮเมอร์  ชาวกรีกยังอยู่รวมกันเป็นชุมชนแบบเผ่า  และผู้ปกครองมาจากการเลือกของคนในเผ่า  แต่โฮเมอร์ผู้เขียนมหากาพย์อีเลียด  (Iliad) และโอดิสเซ (Odyssey) นั้นแสดงความคิดในลักษณะที่เชื่อเรื่องกษัตริย์  ซึ่งมีสิทธิปกครองโดยได้รับบัญชาจากเทพเจ้า  กล่าวคือ กษัตริย์ต่างจากมนุษย์ทั่วไปตรงที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นผู้ปกครองชุมชน  ความคิดแบบนี้ คือ ราชาธิปไตย (monarchy)  และนครรัฐกรีกซึ่งตั้งขึ้นในระยะต่อมา  ก็มีการปกครองแบบนี้  ก่อนที่จะถึงยุคประชาธิปไตย  ซึ่งจะเฟื่องฟูในนครรัฐเอเธนส์  สมัยของรัฐบุรุษเพริเคลิส  (Pericles)

๓.ความคิดทางการเมืองกรีกในสมัยของโซลอน
ยุคใหม่ของกรีกเริ่มในสมัยของโซลอน  ซึ่งถือว่าเป็นผู้วางรากฐานประชาธิปไตยของกรีก  ในระยะนี้  กรีกมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมาก  คือ  ชนชั้นเศรษฐีมีฐานะร่ำรวยมาก  และชาวนายากจนลงทุกที  เกิดการกดขี่ขูดรีดค่าจ้างแรงงานอย่างหนัก  ชนชั้นที่ยากจนได้เลือกโซลอน  ซึ่งมาจากชนชั้นพ่อค้าที่มั่งคั่งขึ้นเป็นผู้นำ  เพราะเห็นความสามารถเมื่อครั้งที่ปลุกใจชาวเอเธนส์ยึดเกาะซาลามิส  (Salamis)  คืนจากเมการา  (Megara) ได้  เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ดอน  มีอำนาจตรากฎหมาย  โซลอนมองเห็นว่า  หากไม่แก้ปัญหาฐานะของคนยากจนแล้ว  ก็จะเกิดปัญหาแตกแยกยิ่งขึ้นภายในนครรัฐ  จึงเริ่มการปรับปรุงครั้งใหญ่ในด้านสังคมและการเมือง  ซึ่งทำให้ชนชั้นที่ยากจนมีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น  และวางรากฐานประชาธิปไตย  โดยการจัดตั้งศาลยุติธรรม  เรียกว่า  เฮเลีย (Heliaea)  และสภาสี่ร้อย  (Council  of  Four  Hundred) ขึ้น  การปฏิรูปของโซลอนนี้ นับว่าเป็นการเน้นถึงแนวคิดในเรื่อง  ความเสมอภาค  (Equality)  เป็นการจำกัดอำนาจทางการเมืองของคนรวย  ซึ่งเท่ากับถือว่าความมั่งคั่งมิใช่ที่มาของอำนาจทางการเมือง  และรัฐมีหน้าที่จัดการในเรื่องทรัพย์สิน  มิให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในด้านฐานะจนเกินไป  ความเสมอภาคทั้งทางการเมือง  สังคมและเศรษฐกิจ  จึงเป็นแนวความคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปฏิรูปครั้งนี้  นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นแนวคิดทางรัฐจริยศาสตร์ที่ว่า  รัฐมีหน้าที่คุ้มครองคนยากจนและอ่อนแอให้พ้นจากการกดขี่ของคนที่ร่ำรวยและแข็งแรงกว่า  การปฏิรูปนี้มิได้ทำไปตามอำเภอใจ  แต่ทำโดยการออกกฎหมาย
ในระยะเดียวกันนี้  แนวความคิดอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งมิใช่การปฏิรูปทางด้านตัวระบบการเมืองและสังคม  แต่เป็นการปลูกฝังหลักศีลธรรมลงในจิตใจคน  ก็คือ  คำสอนแห่งเดลฟี่  (Delphi)  กล่าวคือ  ในราว  ๖๐๐  ปีก่อนคริสตกาล  เดลฟี่ได้กลายเป็นรัฐศักดิ์สิทธิ์หรือรัฐศาสนา  และพวกนักบวชได้สอนศีลธรรม  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแนวทางในจริยศาสตร์และกฎหมายกรีก  คำสอนดังกล่าวได้แก่  หลักการรู้จักประมาณ  รู้จักความดี  และการถือว่าทุกสิ่งมีขอบเขตจำกัด  ซึ่งต่อมาความคิดนี้  ปรากฏในคำสอนของพวกไพธากอรัส  เรื่อง  ความจำกัด  (Limit)  และปรากฎในคำสอน เรื่อง  ทางสายกลาง  (Mean) ของอริสโตเติล  นักปราชญ์คนสำคัญของกรีกโบราณ

๔.ความคิดทางการเมืองกรีกในสมัยไพธากอรัส
คำสอนแบบเดลฟี่นั้นมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวกรีก  โดยเฉพาะเชื้อสายดอเรียน  (Dorian)  นครรัฐที่สำคัญที่สุดของกรีกเผ่านี้  ได้แก่  นครรัฐสปาร์ตา  (sparta)  นครรัฐนี้รับอิทธิพลคำสอนแบบเดลฟี่มาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมาก  เช่น  การไม่ให้ความสำคัญแก่ความมั่งคั่ง  การเน้นกฎเกณฑ์และระเบียบวินัย  ซึ่งเป็นเครื่องจำกัดเสรีภาพของมนุษย์  แต่ในดินแดนกรีกบนผืนแผ่นดินใหญ่  และบนฝั่งไอโอเนียมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมาตั้งแต่แรก  เหตุผลและความพอใจต่อความสุขทางวัตถุมีมาโดยตลอด  มิได้เป็นสังคมแบบเผ่า  มีความเจริญ  มีเสรีภาพทั้งทางปัญญาและวัตถุ  ที่รัฐแถบไอโอเนียนั้น  คนมีความเจริญทางปัญญาถึงขั้นที่สนใจถามปัญหาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์โดยตรง  เช่น  เรื่องธรรมชาติของจักรวาล  ต้นกำเนิดของจักรวาล  ความแปรเปลี่ยน  เป็นต้น  ส่วนในด้านการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็มีปรัชญาของไพธากอรัส  ซึ่งเป็นชางไอโอเนียจากเกาะซามอส   เป็นหลักก่อนที่จะถึงคำสอนของโสเกรตีส  (Socratis) ชาวเอเธนส์
เรามักรู้จักไพธากอรัส  ในฐานะเป็นนักคณิตศาสตร์  แต่ที่จริงแล้วไพธากอรัสและพวกถือว่าความรู้ทางคณิตศาสตร์  คือ ความรู้เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล  และได้ใช้ความรู้นี้อธิบายทั้งเรื่องธรรมชาติ  จริยธรรมและการเมือง  เช่น  ความยุติธรรม คือ จำนวนที่คูณตัวมันเอง  หรือกำลังสอง  เพราะกำลังสองเป็นเลขจำนวนที่สมดุลที่สุด  เนื่องจากประกอบขึ้นเป็นส่วนประกอบที่เท่า ๆ กันทุกส่วน  ดังนั้น  เมื่อความยุติธรรมเป็นจำนวนยกกำลังสองเพราะเหตุว่าทุกส่วนเท่ากัน  รัฐที่ยุติธรรมจึงต้องเป็นรัฐที่ทุกส่วนเท่ากันหรือเสมอภาคกัน  นั่นคือ  แนวคิดเรื่องความยุติธรรมอธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่องความเสมอภาค  เช่น  การแบ่งผลประโยชน์จากฝ่ายที่ได้มากไปเพิ่มให้แก่ฝ่ายที่ได้น้อย  เป็นต้น  นอกจากความเท่าเทียมกันแล้ว  เราจะเห็นว่า  ความยุติธรรมในแง่นี้เกิดจากการปรับ  ซึ่งเพลโตได้นำความคิดนี้ไปใช้  แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ปรับให้สมาชิกของรัฐทุกคนเท่าเทียมกัน  แต่ปรับให้สมาชิกทุกคนได้สิ่งที่เหมาะสมแก่ธรรมชาติของตน  และในเรื่องธรรมชาติของคน  เพลโตก็ยังปรับเรื่องการแบ่งคนเป็น  ๓  พวก  คือ  พวกรักปัญญา  พวกรักเกียรติ  และพวกรักผลประโยชน์  มาจากคำสอนของพวกไพธากอรัสด้วย
๕.ความคิดทางการเมืองของกลุ่มโสฟิสต์
เมื่อกรีกยังไม่ได้ขยายดินแดนไปมากนัก  ความเชื่อว่าระเบียบและประเพณีเป็นหลักพื้นฐานที่จำเป็นของรัฐเป็นความเชื่อที่ยึดถือกันอย่างแน่นแฟ้น  ครั้นเมื่อดินแดนขยายออกไปได้พบปะชนกลุ่มอื่น  เผ่าอื่น  ซึ่งมีประเพณีต่างกันออกไป  ก็ทำให้เริ่มเห็นว่าประเพณีหรือแนวปฏิบัติที่ตนกระทำอยู่นั้นหาใช่กฎสากลของมนุษย์ไม่  คนแต่ละกลุ่มยอมรับแนวปฏิบัติหรือมีประเพณีต่างกัน  จึงเกิดสงสัยว่าประเพณีอาจมิใช่สิ่งที่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  และที่คนเราถือปฏิบัติอยู่ก็มิใช่เพราะเป็นกฎที่ถูกต้อง  เป็นแต่เพียงการยอมรับสิ่งเดียวกันมาปฏิบัติเท่านั้น
อีกประการหนึ่ง  กฎหมายของรัฐต่าง  ๆ  ก็ยังระบุตัวนักกฎหมายผู้สร้างกฎหมายนั้น ๆ ได้  กฎหมายเหล่านี้  เป็นเพียงสิ่งที่คนกำหนดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ  หรือว่านักกฎหมายเป็นผู้รู้กฎหมายธรรมชาติแล้วออกกฎหมายตามนั้น  ในการตอบปัญหานี้  ชาวกรีกบางพวกก็มองเห็นว่า  แม้ในเรื่องเดียวกันกฎหมายต่างรัฐก็ต่างกัน  ถ้ากฎหมายก็ดี  ประเพณีก็ดี เป็นกฎธรรมชาติแล้ว  ทุกรัฐของกรีกและต่างชาติ  เช่น  เปอร์เซีย  น่าจะมีกฎหมายและประเพณีอย่างเดียวกันหมด  ความคิดว่ากฎหมายหรือประเพณีของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสังคม  สมัย หรือบุคคล  ก็เริ่มมีผู้กล่าวถึงมากขึ้น  บุคคลเหล่านี้  คือ  พวกที่เรียกตนเองว่า  โสฟิสต์
โสฟิสต์มิใช่ขบวนการทางการเมืองโดยตรง  แต่เป็นขบวนการที่มีลักษณะกว้างขวางมาก  บางคนเป็นนักตรรกวิทยา  บางคนเป็นนักวาทวิทยา  ส่วนมากสอนเรื่องจริยศาสตร์และการเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวกรีกโดยทั่วไปสนใจ  ทรรศนะของพวกนี้ก็ต่างกัน  ตั้งแต่เป็นพวกที่เน้นความสุขทางโลก  ไปจนถึงพวกเคร่งประเพณี  มีทั้งที่เข้าข้างลัทธิการปกครองแบบทรราชย์  ไปจนถึงประชาธิปไตย  บางคนมีความสามารถทางดนตรีและศิลปะ  ความรู้และความคิดของโสฟิสต์จึงมีลักษณะหลากหลาย  หาใช่เป็นขบวนการซึ่งมีแนวความคิดใดเพียงความคิดเดียวไม่  ความสำคัญของพวกโสฟิสต์อยู่ที่เป็นครูสอนชาวกรีกให้มีความสามารถทางการเมืองในสมัยนั้น  โดยคิดว่าตนเป็นผู้รู้และสอนชาวกรีกให้มีคุณธรรมและปัญญา  สามารถปกครองรัฐและครอบครัวได้ดี  โสฟิสต์เป็นคนต่างรัฐที่เข้ามาหากินในเอเธนส์  เช่น  กอร์กิอัส  มาจาก  เลออนตินี  ในซิซิลี  โปรทากอรัส  จากอับเดรา  ทราไซมาคุส  จากคาสเซดอน  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพราะเอเธนส์เป็นศูนย์กลางความเจริญทางปัญญา  และหาลูกศิษย์รวย ๆ ได้ง่าย  ลูกคนมีเงินเหล่านี้ต้องการความรู้ของพวกโสฟิสต์  เพื่อใช้แก้คดีในศาล  ใช้หาเสียงเลือกตั้ง  ใช้สร้างชื่อเสียงในรัฐ  และชักจูงให้การเมืองแบบประชาธิปไตยเอนเอียงไปสู่คณาธิปไตย  (Oligarchy) ซึ่งอำนาจการเมืองอยู่ในมือคนรวย
๕.๑.แนวความคิดของโปรทากอรัส
โปรทากอรัส เป็นโสฟิสต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด  โดยเฉพาะคำสอนที่ว่า  “มนุษย์เป็นเครื่องวัดสิ่งทั้งปวง”  ซึ่งคำสอนนี้ทำให้คนส่วนมากคิดว่าโปรทากอรัสเป็น ปัจเจกนิยม  คือ แต่ละคนคิดและตัดสินเองในทุกเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงเท็จหรือดีชั่ว  แต่เมื่อพิจารณาจากทฤษฎีการเมืองของเขาจะเห็นลักษณะตรงข้าม  และเป็นลักษณะใกล้เคียงกับความคิดของเพลโตมากที่สุด  โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า  ความยุติธรรมนั้นกำหนดมาจากเบื้องบน  ต่างกันแต่ว่าโปรทากอรัสอ้างเทพเจ้า  ส่วนเพลโตให้นักปราชญ์เป็นผู้กำหนดและเพลโตเองก็ได้กำหนดลักษณะของความยุติธรรมอย่างกว้าง ๆ ไว้แล้ว 
โปรทากอรัส  เริ่มอธิบายกำเนิดของรัฐ  โดยแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ ออกเป็น  ๓  ขั้น คือ 
          ขั้นแรก  เป็นมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ  ขั้นนี้มนุษย์รู้จักการทำงานฝีมือและกสิกรรม  แต่ยังไม่รู้จักชีวิตแบบพลเมืองและการเมือง  ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้าย  จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาอยู่รวมกัน 
          ขั้นที่สอง  คือ การมีรัฐและการหาวิธีอยู่รวมกัน  แต่ทว่าในระยะนี้ก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์  จึงต่างก็ทำร้ายซึ่งกันและกัน  เกิดความแตกแยกจนอยู่รวมกันไม่ติด
          ขั้นที่สาม  คือ  ซุส (Zeus)  ส่งเฮเมส  (Hermes)  เป็นเทวทูตนำเอา  ความเคารพ  และความยุติธรรมลงมาให้แก่มนุษย์ไว้เป็นหลักแห่งความเป็นระเบียบ  ซึ่งทำให้รัฐเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นได้ 
รัฐแบบสุดท้ายนี้เป็นสังคมที่ผูกพันกันทางด้านจิตใจ  คือ  มีความเคารพยำเกรงและความยุติธรรมเป็นหลักใจ  และรัฐนี้เองที่เป็นองค์การสูงสุดในการให้การศึกษาแก่พลเมืองและการศึกษาแก่เยาวชน  ตามทรรศนะของโปรทากอรัสดังกล่าวแล้ว  กฎหมายจึงมาจากสวรรค์และทำให้มนุษย์เราพ้นจากสภาวะธรรมชาติ  ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในแง่การเมือง  เพราะซุสให้หลักทางการเมืองแก่มนุษย์ทุกคนไม่ใช่ให้แก่ใครโดยเฉพาะ
๕.๒.แนวความคิดของแอนติฟอน
แอนติฟอน  เป็นนักวาทะ  เป็นผู้นำทางคณาธิปไตย  ในการปฏิวัติในปี  ๔๑๑  ก่อนคริสตกาล  เขียนหนังสือไว้หลายเรื่อง  คือ  The  Interpretation  of  Dreams  Concord  The  statesman  และ  On truth   ในปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนของเรื่อง  On truth  และส่วนที่เหลืออยู่นี้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง  ซึ่งตรงกับที่เพลโตได้กล่าวไว้ในการวิจารณ์โสฟิสต์  แอนติฟอน  เขียนไว้  ดังนี้

                    “ความยุติธรรม ประกอบด้วย การไม่ละเมิดตัวบทกฎหมายใด ๆ ของรัฐซึ่งตนเป็นพลเมืองอยู่  ดังนั้น  บุคคลควรทำความยุติธรรมในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด  ในยามที่มีผู้พบเห็น  บุคคลควรยึดถือกฎหมายอย่างสูงสุด  แต่ยามที่ไม่มีใครเห็น  เมื่ออยู่ตามลำพังบุคคลควรยึดกฎธรรมชาติอย่างสูงสุด  เหตุเพราะกฎหมายนั้นมาจากภายนอก  ส่วนกฎธรรมชาตินั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้  และกฎหมายนั้นสร้างขึ้นโดยพันธสัญญามิใช่โดยธรรมชาติ  ส่วนกฎธรรมชาตินั้นกลับกัน  ดังนั้น  คนที่ละเมิดกฎหมายก็ไม่ต้องละอายหรือรับโทษ  หากไม่มีผู้ร่วมพันธสัญญารุ้เห็น  และจะละอายหรือถูกลงโทษก็เมื่อมีผู้รู้เห็นเท่านั้น  ส่วนการละเมิดกฎธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมาหาเป็นเช่นนั้นไม่  หากคนฝ่าฝืนกฎเหล่านี้อย่างมากแล้ว  ก็จะไม่ได้รับผลชั่วน้อยลงเมื่อไม่มีใครรู้เห็น  และไม่มากขึ้นเมื่อคนทุกคนพบเห็น  ทั้งนี้ ก็เพราะความบาดเจ็บซึ่งเขาได้รับนั้นมิได้ขึ้นกับความเห็นของมนุษย์  แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงในกรณีนั้น ๆ
                    ปัญหาเรื่องนี้  พิจารณาได้จากทุกแง่  สิ่งที่ถือว่าถูกกฎหมายนั้นส่วนมากขัดกับธรรมชาติ  กฎหมายนั้นตราไว้ก็เพื่อ  กำหนดตาว่าควรเห็นอะไร  ไม่ควรเห็นอะไร  กำหนดหูว่าควรได้ยินอะไร  ไม่ควรได้ยินอะไร  กำหนดลิ้นว่าควรพูดอะไร  ไม่ควรพูดอะไร  ฯ  แต่ทว่าสิ่งซึ่งกฎหมายกำหนดให้คนละเส้นนั้น  มิได้สอดคล้องกับธรรมชาติมากไปกว่าสิ่งซึ่งกฎหมายกำหนดให้คนแสวงหา..”

คำสอนของแอนติฟอน นอกจากจะแยกกฎธรรมชาติกับกฎหมาย  เช่นเดียวกับชาวกรีกทั่ว ๆ ไปแล้ว  ยังถือว่าดีชั่วไม่มี  เพราะในแง่ของธรรมชาติ  ดีกับชั่วไม่ต่างกัน  เนื่องจากธรรมชาติตัดสินใครไม่ได้  แต่ในแง่กฎของมนุษย์  การตัดสินก็มิได้เด็ดขาดตายตัว  ขึ้นกับบุคคลและคนจะตัดสินได้ก็เมื่อรู้เห็น  ดังนั้น  ในกรณีที่ไม่มีใครรู้เห็น  คนเราจะทำอะไรก็ได้  และสิ่งที่คนควรทำคือสิ่งที่มีผลประโยชน์แก่ตนมากที่สุด  คำสอนที่ว่าจะทำตามกฎหมายเมื่อมีผู้รู้เห็นนั้น  เป็นหลักการของทราไซมาคุส  ที่เพลโตกล่าวถึงใน อุตมรัฐ  ที่ว่า  ความยุติธรรมคือ ผลประโยชน์ของผู้ปกครอง  และเป็นหลักการเดียวกับหลักที่ว่า  จงทำให้ทุกคนเชื่อว่าเป็นคนดี  แต่ไม่ต้องเป็นคนดีจริง ๆ คำสอนของแอนติฟอนดังกล่าว  จึงช่วยไขความทำให้เราเชื่อคำพูดของเพลโตส่วนที่กล่าวถึงความคิดของพวกโสฟิสต์ได้มากขึ้น

๖.ความคิดทางการเมืองของโสเกรตีส
โสเกรตีส  เป็นนักปราชญ์ฝ่ายที่โต้แย้งกับโสฟิสต์คนสำคัญ ๆ และผลจากการโต้แย้งนั้น  ก็ทำให้โสเกรตีสต้องถูกลงโทษประหารชีวิต  โสเกรตีสเองมิได้เขียนหนังสือไว้  เรารู้เรื่องของเขาจากเพลโตซึ่งเป็นลูกศิษย์และเซโนฟอนซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกัน  และคำสอนส่วนมากปรากฎในหนังสือที่เพลโตแต่ง  แต่เพลโตก็ใช้โสเกรตีสเป็นตัวละครในเรื่องมากเสียจนกระทั่งเกิดความสงสัยว่า  ข้อความใดเป็นความคิดของโสเกรตีสจริง ๆ  ข้อความใดเป็นคำพูดที่เพลโตจับใส่ปากโสเกรตีส  หนังสือของ เซโนฟอน  เรื่อง “Memorabilia”  กล่าวว่า  หนังสือหลายเล่มของเพลโต  โดยเฉพาะที่เขียนขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นการถ่ายทอดความคิดของโสเกรตีสทั้งนั้น
ในหนังสือ  Crito  ของเพลโต  กล่าวว่า  โสเกรตีสนั้นยึดถือว่า  ความยุติธรรม  ได้แก่  การทำตามที่กฎหมายตัดสิน  และการยอมรับเช่นนี้ทำให้โสเกตีสยอมตายแทนที่จะหนี  ทั้ง ๆ ที่พรรคพวกช่วยเหลือได้  และการตายของโสเกรตีสทำให้เพลโตมองเห็นว่า  กฎหมาย ถ้าอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้จักความยุติธรรมที่แท้แล้ว  ก็อาจทำลายคนดี ๆ ได้  และในที่สุด  เพลโต ก็ได้แสดงทฤษฎีการเมืองขอตนในลักษณะที่โจมตีประชาธิปไตยอย่างรุนแรง  และเน้นการปกครองโดยบุคคลซึ่งเป็นนักปราชญ์มากกว่าจะยึดตัวบทกฎหมายเป็นที่สุด

โสเกรตีส      :         เรามาพิจารณากันในแง่นี้  สมมติว่าขณะที่เรากำลังจะหนีไปจากที่นี่ หรือจะเรียกว่ากระไรก็ตาม  แล้วกฎหมายและรัฐธรรมนูญเอเธนส์ก็มาเผชิญหน้ากับเรา  และถามว่า  โสเกรตีส ท่านกำลังคิดจะทำอะไร  ท่านจะปฏิเสธไหมว่าการกระทำที่ท่านกำลังคิดว่าจะทำ  และอยู่ในวิสัยสามารถที่ท่านจะทำได้นี้  ไม่เป็นการทำลายเรา  ทำลายกฎหมายและรัฐทั้งหมด  ท่านคิดหรือไม่ว่า รัฐจะคงอยู่ต่อไปไม่สลายลง  หากคำตัดสินโดยกฎหมายซึ่งได้ประกาศออกไปแล้วนั้นไม่มีอำนาจบังคับ  แต่กลับถูกปัจเจกชนทำลายและทำให้เป็นโมฆะ
ไครโต  เราจะตอบปัญหานี้และปัญหาอื่น ๆ ทำนองนี้ว่าอย่างไร  มีทางที่จะตอบได้มาก  โดยเฉพาะถ้าเป็นทนายความอาชีพ  ที่จะค้านกฎหมายข้อที่ว่า เมื่อตัดสินแล้ว  ก็เป็นพันธะผูกพันตามคำตัดสินนั้น  เราจะพูดได้ไหมว่าถูกแล้ว  ข้าพเจ้าจงใจทำลายกฎหมาย  ก็เพราะว่ารัฐตัดสินคดีข้าพเจ้าไม่ถูกต้อง  จะตอบเช่นนี้หรืออย่างอื่น
ไครโต            :                 ต้องตอบอย่างที่ท่านว่ามานั่นแหละ
โสเกรตีส        :        สมมติว่ากฎหมายกล่าวต่อไปละว่า  โสเกรตีส  ข้อตกลงระหว่างท่านกับเรา  มีระบุไว้เช่นนั้นด้วยหรือ  หรือท่านต้องยอมผูกพันกับคำตัดสินอะไรก็ตามที่รัฐประกาศ
                             ถ้าหากเราแสดงความงุนงงต่อคำพูดดังกล่าว  รัฐก็อาจกล่าวต่อไปว่าไม่ต้องสนใจภาษาของเราก็ได้โสเกรตีส  แต่จงตอบปัญหาเราแท้ที่จริง  ท่านก็คุ้นกับวิธีตั้งคำถามและตอบคำถามอยู่  ตอบซิว่าท่านมีข้อกล่าวหาอะไรเราและรัฐในการพยายามจะทำลายเรา  ข้อแรกเรามิได้ให้ชีวิตแก่ท่านดอกหรือ  มิใช่อาศัยเราดอกหรือที่บิดามารดาท่านได้แต่งงานกันจนเกิดท่าน  บอกซิว่าท่านมีข้อแย้งบรรดากฎหมายสมรสซึ่งเป็นพวกเราเหล่านั้นอย่างไรบ้าง
ไครโต         :         ข้าพเจ้าก็ต้องตอบว่า  ไม่  ไม่เลย
โสเกรตีส     :           ถ้าอย่างนั้นท่านมีอะไรโต้แย้งกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาอบรมเด็กอย่างที่ท่านก็เคยได้รับมาบ้าง  ท่านไม่รู้สึกขอบคุณกฎหมายทั้งหลายที่ตั้งขึ้นเพื่อสั่งให้บิดาท่านให้การศึกษาแก่ทั้งทางร่างกายและวัฒนธรรมบ้างเลยหรือ
ไครโต           :         ข้าพเจ้าก็ต้องตอบว่า  รู้สึกขอบคุณ
โสเกรตีส       :         ดีละ  ถ้าเช่นนั้นตั้งแต่ท่านเกิด  เติบโต  และรับการศึกษาจากรัฐเช่นนี้  ท่านจะปฏิเสธได้ลงคอหรือ  ว่าทั้งบรรพบุรุษของท่านและตัวท่านเองมิใช่ลูกหลานและผู้รับใช้ของรัฐ  และถ้าเป็นเช่นนั้น  ท่านคิดหรือว่าอะไรที่ถูกต้องแก่เรา  ต้องถูกต้องแก่ท่านด้วย  และอะไรที่เรากระทำแก่ท่าน  ท่านก็กระทำแก่เราได้เช่นกัน  หากว่าท่านมีบิดาหรือนายท่านก็มิได้มีสิทธิเท่ากับบิดาท่านหรือนายท่านจนถึงกับทำการโต้ตอบได้  เมื่อถูกเอ็ดจะเอ็ดตอบ  ถูกตีตีตอบหรือทำอะไรอื่น ๆ อีกมากมายทำนองเดียวกันนี้หาได้ไม่  ท่านคิดว่าท่านมีสิทธิที่จะต่อต้านรัฐและกฎหมายของรัฐในลักษณะที่ว่า  ถ้าเราพยายามจะประหารท่านเนื่องจากเชื่อว่ารามีสิทธิจะทำเช่นนั้น  ท่านเองก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำลายรัฐของท่านและเราซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเป็นการตอบแทนเช่นกันกระนั้นหรือ  ท่านฉลาดเสียจนลืมไปเชียวหรือว่า  เมื่อเทียบกับมารดาบิดาและบรรพบุรุษทั้งหมดของท่านแล้ว  บ้านเมืองมีค่ายิ่งกว่า  ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่า  และมีเกียรติยศใหญ่หลวง  ไม่ว่าจะในหมู่เทพหรือมนุษย์ที่มีเหตุผลทั้งปวง  ท่านไม่เห็นตระหนักดอกหรือว่าท่านยิ่งต้องมีพันธะที่จะเคารพและทำให้บ้านเมืองหายโกรธยิ่งกว่าจะทำให้บิดามารดาหายโกรธเสียอีก  หากท่านไม่สามารถเปลี่ยนใจบ้านเมืองได้  ท่านก็ต้องทำตามไม่ว่าจะสั่งอะไร  และยอมรับการลงโทษจากรัฐอย่างอดทนไม่ว่าต้องบาดเจ็บหรือถึงตาย  ท่านก็ต้องยอมและที่ท่านทำเช่นนั้นถูกต้องแล้ว  ท่านต้องไม่หลบ  ถอย หรือละทิ้งหน้าที่ของท่าน  ไม่ว่าจะในสงคราม  ในศาลหรือที่ใด ๆ ท่านต้องทำตามที่รัฐและบ้านเมืองของท่านสั่ง  หรือไม่ก็ต้องชักจูงให้รัฐและบ้านเมืองยอมรับความยุติธรรมสากล  แต่การละเมิดนั้นเป็นบาป  แม้เมื่อเป็นการละเมิดต่อบิดาอยู่แล้ว  ยิ่งเป็นรัฐ  การละเมิดก็ยิ่งเป็นบาปหนักข้อกว่ามากนัก  ไครโต  เราจะตอบว่าอย่างไร  ว่ากฎหมายพูดถูกหรือพูดผิด
ไครโต         :           ข้าพเจ้าคิดว่าถูกแล้ว
โสเกรตีส      :          กฎหมายก็จะกล่าวต่อไปว่า  โสเกรตีส  ถ้าเช่นนั้น จงพิจารณาดูว่าเราพูดถูกใช่ไหมที่ว่าสิ่งที่ท่านกำลังพยายามกระทำนั้นไม่ถูกต้อง  ทั้ง ๆ ที่เราเป็นผู้นำท่านมาสู่โลกนี้  เลี้ยงดู  ให้การศึกษา  ให้ท่านและพลเมืองที่เป็นพรรคพวกท่านได้มีส่วนแบ่งในสิ่งดี ๆ โดยอาศัยเราจัดการ  กระนั้นก็ตามเรายังอนุญาตโดยการประกาศว่า  ชาวเอเธนส์คนใดที่เป็นผู้ใหญ่และเห็นว่าองค์การทางการเมืองของรัฐและเราซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ  สามารถหอบทรัพย์สมบัติออกจากรัฐไปอยู่ที่พอใจได้ 
                                                                             (ไครโต  50 b – 51 b)
         

          แสดงให้เห็นว่า  พลเมืองไม่มีสิทธิ์ที่จะดื้อแพ่งหรือละเมิดกฎหมายของรัฐ  และการกระทำที่ถูกต้องหรือยุติธรรม  คือ  การทำตามกฎหมายของรัฐ  ไม่ว่าคำตัดสินจะถูกหรือผิด  และถ้าหากไม่เห็นด้วยก็ต้องใช้วิธีชักจูงให้กฎหมายยอมรับ  สิ่งที่กฎหมายจะยอมรับนั้น  ได้แก่  ความยุติธรรมสากล  ซึ่งหมายถึง  ความยุติธรรมที่แท้ในแง่จริยศาสตร์ นั่นเอง  กรณีนี้จึงถือว่า  หากไม่มีเหตุผลทางจริยศาสตร์มาแย้งอย่างมีน้ำหนักพอแล้ว  พลเมืองต้องทำตามกฎหมายอย่างไม่มีข้อยกเว้น  และการกระทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรม  ส่วนเหตุผลที่นำมาอ้างเพื่อสนับสนุนว่าการทำตามกฎหมายเป็นความยุติธรรม  ก็คือ  พันธสัญญาที่พลเมืองมีต่อรัฐ  และบุญคุณที่รัฐสร้างพลเมืองมาตั้งแต่เกิด  แต่จากการพูดถึงความยุติธรรมสากล  แสดงว่า โสเกรตีสเองก็ยังคำนึงถึงความยุติธรรมทางจริยธรรมด้วย  และอย่างหลังนี้เป็นสิ่งที่เพลโตจะเน้นมากในหนังสือ เรื่อง อุตมรัฐ  อันว่าด้วยความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น