วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

องค์อธิปัตย์กับสังคมการเมือง

องค์อธิปัตย์กับสังคมการเมือง

๑.ภูมิหลังและสิ่งแวดล้อมของ โธมัส  ฮอบส์
โธมัส  ฮอบส์  (Thomas   Hobbes)  เป็นนักปรัชญาและนักอักษรศาสตร์  ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือ ชื่อ  Leviathan  ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองและการปกครอง  ฮอบส์ เกิดที่เมืองมาลเมสเบอรี่  (Malmesbury)  ในแคว้นกลูสเตอร์แชร์  (Gloucestershiare)    เมื่อมารดาของเขาได้ยินข่าวเกี่ยวกับ
กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปนที่ยกมาตีอังกฤษกำลังใกล้เข้ามาถึง  แม้ว่า ฮอบส์ จะเข้าสู่โลกก่อนกำหนดซึ่งเขามักกล่าวภายหลัง  ว่า  “เขาเกิดมาพร้อม ๆ กับความกลัว”   ช่วงชีวิตของ ฮอบส์ เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ  ฮอบส์ ยังเป็นเด็กนักเรียนในปลายรัชสมัยของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ ๑  เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย  เป็นครู และเป็นนักปราชญ์ทางคลาสสิก  ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ ที่ ๑  เป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาที่เริ่มทอแสงในสมัยพระเจ้าชาร์ล ที่ ๑  เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง แต่ทางการไม่ค่อยจะไว้วางใจในสมัยของ โอลิเวอร์  ครอมเวลล์  (Oliver  Cromwell)  และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่โด่งดัง  นักกวีและเกือบจะเป็นถาวรวัตถุของอังกฤษ ในสมัยของพระเจ้าชาร์ล ที่  ๒  ซึ่งเป็นยุคที่ได้มีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (Restoration)  ฮอบส์  สิ้นชีพลงในวันที่ ๔  ธันวาคม  ค.ศ.๑๖๗๙ 

๒.เนื้อหาสำคัญของทฤษฎีของฮอบส์
๒.๑.สภาวะธรรมชาติของมนุษย์
ฮอบส์ มองว่า  มนุษย์นั้นเป็นวัตถุพิเศษที่เคลื่อนไหวได้เอง  กฎของการเคลื่อนไหวของมนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากวัตถุอื่น ๆ  กฎของการเคลื่อนไหวของมนุษย์จึงไม่แตกต่างไปจากวัตถุอื่น ๆ  การเคลื่อนไหวของมนุษย์ในขณะหนึ่งขณะใดนั้น  ฮอบส์ เรียกว่า  ความพยายาม  ซึ่งเปรียบเทียบได้กับความเร็ว  ในวิชากลศาสตร์สมัยใหม่  มนุษย์นั้นมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิจนตายไป  และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะแบ่งแยกออกได้เป็น  ๒  กลุ่ม  ตามทิศทางของการเคลื่อนไหว  การเคลื่อนไหวเข้าหา  เรียกว่า  ชอบ  และการเคลื่อนไหวออกห่าง  เรียกว่า  เกลียด  มนุษย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของพลัง  ๒  อย่างนี้  คือ ชอบและเกลียด  อย่างแรกดึงดูดมนุษย์ไปสู่สิ่งที่ปรารถนา  อย่างหลังผลักดันมนุษย์ออกไปจากสิ่งที่ไม่ต้องการ  ดังนั้น  มนุษย์จึงแสวงหาสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่ตลอดเวลา  ในขณะที่พยายามกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตัวเองเกลียด  ฉะนั้น  มนุษย์โดยธรรมชาติ  จึงต้องแสวงหาอำนาจอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน  เพราะอำนาจ คือ สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ได้มาในสิ่งที่ตัวเองชอบ  อำนาจเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์บรรลุถึงสิ่งที่เขาปรารถนาและคุ้มกันสิ่งที่เขามีอยู่ไม่ให้คนอื่นแย่งไป
ฮอบส์  สังเกตเห็นว่า  มนุษย์มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความปรารถนา  กล่าวคือ  ต้องการในสิ่งที่คล้าย ๆ กัน  ดังนั้น  สภาวะธรรมชาติของมนุษย์จึงเป็นสภาวะสงคราม  มีการแย่งชิงกันตลอดเวลาและไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล  ปัจเจกบุคคลถูกผลักดันให้แก่งแย่งช่วงชิงกัน  ด้วยสภาวะทางจิตใจ  ๓  ประการ  คือ  แข่งขันกัน  หวากระแวงกัน  และการแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ  ต้องการให้บุคคลอื่นมองตนด้วยความเคารพเลื่อมใส  การแข่งขันกันจะทำให้มนุษย์ใช้กำลังบุกรุกเพื่อหวังผล  ความหวาดระแวงและกลัวเกรงจะทำให้มนุษย์ก้าวร้าวเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง  และความต้องการเกียรติยศ  ชื่อเสียง  จะกระตุ้นให้มนุษย์ทะเลาะวิวาทกันในสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่มองหน้ากัน  พูดกระทบกระแทกกัน  ยิ้มเยาะต่อกัน  มีทัศนคติต่างกัน  หรือแสดงออกโดยอาการอย่างหนึ่งอย่างใดว่าลบหลู่ดูหมิ่น
สภาวะธรรมชาติของมนุษย์  จึงเป็นสภาวะที่ทุกคนเป็นศัตรูกับทุกคน  สภาวะสงครามนี้รวมครอบคลุมไปถึงสภาวะทางจิตวิทยาที่คุกรุ่นอยู่ก่อนและหลังการปะทะกันด้วย  ตราบเท่าที่อันตรายจากการปะทะกันยังแฝงอยู่  และไม่มีหลักประกันค้ำจุนสันติภาพ  ในสภาวะธรรมชาตินี้  ไม่มีคำว่า  “ผิด” หรือ “ถูก”    “ยุติธรรม” หรือ  “ไม่ยุติธรรม”   ผิดหรือยุติธรรม จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการละเมิดกฎซึ่งได้ตกลงไว้แล้ว  ดังนั้น  เมื่อไม่มีอำนาจส่วนกลางหรืออธิปัตย์สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา  และบังคับให้คนยอมทำตามแล้ว  ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสามารถจะได้  โดยวิถีทางใดก็ได้  กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงไม่อาจจะมีได้ในสภาวะธรรมชาตินี้  เนื่องจากกำลัง  (might)  กำหนดความถูกต้อง  จึงไม่มีใครจะอ้างกรรมสิทธิ์ต่อสิ่งใดโดยถาวรตลอดไปได้
๒.๒.กฎธรรมชาติและสัญญาประชาคม
ฮอบส์  เห็นว่า  บ่อเกิดของกฎธรรมชาติมาจากเหตุผลภายในตัวมนุษย์ซึ่งติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด  เหตุผลภายในตัวของมนุษย์จะออกคำสั่งหรือค้นพบโดยประสบการณ์ถึงกฎสากลบางอย่างที่จะต้องปฏิบัติตาม  ถ้าปัจเจกชนบุคคลอยากจะเอาชีวิตรอด  กฎสากลนี้  คือ ข้อห้ามในการที่จะทำอะไรที่จะมีผลกระทบในการทำลายชีวิตของตัวเอง  ข้อแตกต่างระหว่างสิทธิตามธรรมชาติ  กับกฎธรรมชาติ ก็คือ  สิทธิตามธรรมชาติมีลักษณะอนุญาตให้บุคคลกระทำการอะไรก็ได้  ในขณะที่กฎธรรมชาติมีลักษณะยับยั้งหรือห้ามปรามให้ปัจเจกบุคคลหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อยากจะกระทำ  ในสภาวะธรรมชาติ  มนุษย์ทุกคนมีสิทธิทุกอย่างที่เขาอยากจะได้  รวมทั้งร่างกาย  ทรัพย์สินของบุคคลอื่น ๆ ด้วย  ดังนั้น  ในสภาวะธรรมชาติจึงไม่มีความมั่นคงสำหรับมนุษย์เลย
มนุษย์ได้ค้นพบกฎธรรมชาติ  โดยเหตุผลในตัวเอง  และฮอบส์ เชื่อว่า  กฎเหล่านี้ประกอบด้วย
กฎข้อที่หนึ่ง  คือ  “แสวงหาและยึดมั่นกับสันติภาพ”  ทั้งนี้  เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมอยากจะหลีกเลี่ยงจากสภาวะอันชั่วร้ายของสงครามตลอดเวลาในสภาวะธรรมชาติ
กฎข้อที่สอง  คือ  การที่ทุกคนจะยอมโอนสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่มีขีดจำกัดโดยข้อตกลงร่วมกัน   สัญญาประชาคมหรือข้อตกลงร่วมกันนี้ คือ  การงดเว้นร่วมกันหรือการโอนสิทธิ  เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้สละสิทธิหรือโอนสิทธิของตนให้บุคคลอื่นไปแล้ว  เขาจะต้องไม่ข้องแวะกับกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น ๆ อีก  เพราะถ้าทำเช่นนั้น  ก็จะเป็นการขัดกับสัญญาที่เขาได้ตกลงใจทำขึ้นด้วยตัวของเขาเอง 
การยึดมั่นต่อสัญญาประชาคมนั้น  ฮอบส์ คิดว่า  ต้องพึ่งพา “ความกลัว” (fear)  เป็นหลัก  ความกลัวนี้  อาจจะเป็นความกลัวต่อภูตผีปีศาจ  บาป หรือ พระเจ้า  หรือ อำนาจของบ้านเมือง  ก็แล้วแต่  ดังนั้น  สัญญาในสภาวะเช่นนั้นจึงต้องพึ่งคำสาปแช่ง  พึ่งการให้สัตย์ปฏิญาณตน  ซึ่งแต่ละฝ่ายจะอ้างการลงโทษของภูตผีปีศาจมาค้ำประกันสัญญาให้ปฏิบัติตาม  ความกลัวต่อสิ่งเหล่านี้  จะทำให้ผู้ให้คำมั่นสัญญา  ยึดมั่นในข้อตกลง
กฎข้อที่สาม  คือ  “มนุษย์จักยึดมั่นในสัญญาที่ได้ทำไว้แล้ว”  เพราะถ้าทุกคนไม่ยึดมั่น  สัญญาประชาคมจะหมดความหมาย  และจะผลักดันให้พวกเขากลับคืนไปสู่สภาวะสงครามอีก  กฎนี้  ฮอบส์ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ความยุติธรรม”  ซึ่งก็คือ การยึดมั่นในคำมั่นสัญญาเท่านั้นเอง 
กฎธรรมชาติทั้งหมด  สรุปว่า  “จงไม่ทำต่อบุคคลอื่น  ในสิ่งที่เราจะไม่ทำต่อตัวเราเอง”  กฎของธรรมชาติ  ไม่ต้องการให้คนต้องยึดมั่นกับมันในทุกกาลเทศะ  ต้องการแค่เป็นที่ปรารถนาของทุกคนที่จะให้มันมีอยู่และได้รับการเคารพยึดมั่นเท่านั้น  เพราะถ้ากฎธรรมชาติไม่เป็นที่พึงปรารถนาต่อทุกคนคนแล้ว  มันก็จะเป็นการอัตวินิบาตกรรม  ถ้าคน  ๆ เดียวเคารพยึดมั่นต่อกฎ  กฎธรรมชาติเป็นกฎทางสังคมโดยแท้  จะมีคุณค่าและจำเป็นต้องยึดมั่นก็ต่อเมื่อสังคมทั้งหมดยึดมั่นคล้อยตาม และเป็นเงื่อนไขสำคัญขั้นพื้นฐานของสังคมของมนุษย์และชุมชนทางการเมือง 
๒.๓.กำเนิดขององค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจเด็ดขาด
เพื่อจะหลุดพ้นไปจากสภาวะอันทรมานของสงครามทุกขณะ  เพื่อบรรลุถึงสันติภาพและความปลอดภัย  มนุษย์จำต้องมีอำนาจร่วมอยู่เหนือพวกเขาทั้งปวง  “เพื่อทำให้พวกเขากลัวและบีบบังคับ  โดยความกลัวต่อการถูกลงโทษ  ให้กระทำตามคำมั่นสัญญาของพวกเขา”  ที่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น  เพราะความยุติธรรมและการเคารพกฎธรรมชาตินั้น  เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ไปในทุกทิศทุกทาง  แล้วแต่ความทะยานอยากจะผลักดันไป  ฮอบส์  มองว่า  มนุษย์โดยธรรมชาติ  ถ้าไร้เสียซึ่งอธิปัตย์แล้ว  ก็มีแนวโน้มที่จะลำเอียง  หยิ่งยะโส  และต้องการจะล้างแค้น 
ฮอบส์  ยอมรับว่า  ในสังคมของสัตว์ฝูง  อย่างมดหรือผึ้ง  ไม่มีอำนาจของอธิปัตย์  เขาเห็นว่า  สังคมของสัตว์ต่างจากสังคมของมนุษย์  ๖  ประการ  คือ
๑.มนุษย์มักจะแสวงหาเกียรติยศและคำยกย่องสรรเสริญ  ซึ่งนำไปสู่ความระส่ำระสาย
๒.ในสังคมมนุษย์  ผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม  ไม่ประสานกันแน่นแฟ้นเหมือนในสังคมของสัตว์
๓.สัตว์นั้นไม่มีเหตุผล  จึงไม่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้  ในขณะที่มนุษย์มักจะเสนอแนะการปรับปรุงปฏิรูปต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมือง
๔.สัตว์ขาดวาทศิลป์  (sophistry)  ซึ่งใช้ในการทำลายสามัญสำนึก  และความสันโดษของพลเมือง  สัตว์ไม่มีศิลปะของการปลุกระดมมวลชน
๕.สัตว์มักจะพึงพอใจ  ถ้าได้รับความสะดวกสบาย  และอิ่มหมีพีมันในขณะที่มนุษย์จะเป็นภัยทางการเมืองมากทีเดียว  ถ้าอยู่ในสภาวะเช่นนั้น
๖.สัตว์ร่วมมือกันโดยธรรมชาติในขณะที่ข้อตกลงของมนุษย์นั้น  เกิดขึ้นโดยสัญญาบังคับเท่านั้น  และเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง
ทั้ง ๖ ประการนี้  บังคับให้สังคมมนุษย์  จำต้องมีอำนาจพิเศษอยู่เหนือ  เพื่อบังคับให้ทุกคนร่วมมือและเพื่อชักจูงให้การกระทำของปัจเจกบุคคลต่าง ๆ มุ่งไปสู่ผลประโยชน์ส่วนรวม

วิธีการที่จะสร้างอำนาจร่วมขึ้นมา  สำหรับคุ้มกันปัจเจกบุคคลจากศัตรูภายนอก  และความระส่ำระสายภายในนั้น  ในทรรศนะของฮอบส์  เขาเสนอให้กระทำ ดังนี้
           “สมาชิกของกลุ่มทุกคนเสนออำนาจและพละกำลังของเขาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล”

ปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นอธิปัตย์นี้  หลังจากได้รับเลือกต้องแล้ว  จะพูดในนามของสมาชิกทั้งหมด  ตัดสินว่าอะไรดีต่อกลุ่มทั้งหมด  และมีอำนาจในการออกคำสั่งต่อทุกคน  หลังจากร่างสัญญาประชาคมขึ้นมาแล้ว  ปัจเจกบุคคลผู้ร่วมสัญญาทุกคนต้องยอมสละวิจารณญาณ  การตัดสินใจ  ตลอดจนเจตนารมณ์ของตน  ให้แก่การตัดสินใจ  วิจารณญาณ  และเจตนารมณ์ขององค์อธิปัตย์  เมื่อกระทำดังนั้นแล้ว  ก็จะก่อให้เกิดเป็นประชาคมการเมือง  ซึ่งฮอบส์  เห็นว่า  เป็นเอกภาพที่แท้จริง  และรัฐก่อตัวเป็น อภิ-บุคคล  (super-person)  ซึ่งฮอบส์ ตั้งชื่อว่า  Leviathan  อำนาจของอภิบุคคลหรือ  Leviathan  นี้จะมีมาก  เนื่องจากเป็นอำนาจผสมของพลเมืองทุกคนเชื่อมเข้ามาเป็นเอกบุคคล  ผู้ที่ออกคำสั่ง  ใช้อำนาจนี้ตามแต่เขาจะคิด  เรียกว่า  “องค์อธิปัตย์”  และบุคคลอื่น ๆ เรียกว่า  “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”  ของเขา
๒.๔.สิทธิและขอบเขตขององค์อธิปัตย์
ในหนังสือ  Leviathan  อธิปัตย์  ถือกำเนิดขึ้นมาจากสัญญาประชาคม  โดยมีสิทธิและอภิสิทธิ์บางอย่างเป็นขององค์อธิปัตย์  และไม่อาจจะเพิกถอนสิทธิเหล่านี้ไปจากตัวบุคคลหรือสถาบันขององค์อธิปัตย์ได้  สิทธิเหล่านี้  ได้แก่
๑.องค์อธิปัตย์  ไม่อาจสูญเสียอธิปไตยไปได้  และข้าของเขาไม่อาจจะเลือกองค์อธิปัตย์ใหม่ได้  โดยปราศจากการยินยอมขององค์อธิปัตย์  ทั้งนี้  เพราะองค์อธิปัตย์ได้รับมอบสิทธิในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของข้าของเขาทั้งหมด  ใครก็ตามที่แข็งข้อต่อองค์อธิปัตย์สมควรที่จะถูกประหารชีวิตโดยชอบธรรม  ทั้งนี้  เพราะบุคคลผู้นั้นได้กระทำผิดโดยยกเลิกสัญญาที่ได้ทำไว้และได้กลับคืนสู่สภาวะของธรรมชาติ
๒.องค์อธิปัตย์ ไม่อาจถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดสัญญาประชาคม  เนื่องจากองค์อธิปัตย์ไม่ได้ทำสัญญาอะไรทั้งสิ้น  และได้ถือกำเนิดมาจากผลลัพธ์ของสัญญานั้น  ไม่ใช่เป็นผู้ร่วมทำสัญญา  ถ้าองค์อธิปัตย์ ในสมัยที่ยังมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา  ก่อนได้รับการเลือกตั้ง  ได้ให้คำมั่นสัญญาบางอย่าแก่พลเมืองบางคนหรือทุกคน  สัญญาเหล่านี้  จะกลายเป็นโมฆะทันทีที่บุคคลนั้น ๆ กลายสภาพมาเป็นองค์อธิปัตย์
๓.เมื่อชนกลุ่มใหญ่คัดเลือกองค์อธิปัตย์ขึ้นมาแล้ว  ชนกลุ่มน้อยมีภาระที่จะยอมรับและเชื่อฟังองค์อธิปัตย์นั้น ๆ ด้วย  ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ตามมา  คือ  การถอยกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติและสภาวะสงครามที่อาจจะถูกฆ่าโดยใครก็ได้
๔.องค์อธิปัตย์ ไม่อาจจะถูกกล่าวหาโดยข้าของเขาว่าได้รับความอยุติธรรมหรือความเสียหาย  ทั้งนี้  เพราะโดยสัญญาประชาคมพลเมืองทุกคนเป็นส่วนหนึ่งขององค์อธิปัตย์  ซึ่งเป็น อภิ-บุคคล  ดังนั้น  จึงต้องรับผิดชอบในการกระทำทุกอย่างขององค์อธิปัตย์ด้วย
๕.องค์อธิปัตย์  ไม่อาจจะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยชอบธรรม  หรือถูกลงโทษอื่น ๆ ตามกฎหมาย  โดยพลเมืองของเขาได้  ทั้งนี้  เพราะถ้ากระทำดังนั้น  ข้าของเขาก็จะลงโทษเขาในสิ่งที่พลเมืองทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
๖.องค์อธิปัตย์ มีสิทธิและสมควรที่จะควบคุมและยับยั้ง  แนวความคิดและทัศนคติต่าง ๆ ในที่สาธารณชน  เพื่อยับยั้งและปราบปรามลัทธิต่าง ๆ ที่บ่อนทำลายบ้านเมือง
  ๗.องค์อธิปัตย์ ต้องตราพระราชบัญญัติซึ่งจะจัดสรรและควบคุมทรัพย์สินและวิถีชีวิตของพลเมืองให้เป็นระเบียบแบบแผน
๘.องค์อธิปัตย์ ต้องกระทำหรือควบคุมขบวนการยุติธรรม  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสันติสุข
๙.องค์อธิปัตย์ มีอำนาจในการทำสงครามและตกลงเงื่อนไขของสันติภาพต่อชาติอื่น ๆ และมีอำนาจในการควบคุมเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการนี้ด้วย  ซึ่งได้แก่ อำนาจในการเรียกเก็บภาษีและตำแหน่งจอมทัพ
๑๐.องค์อธิปัตย์ เป็นผู้แต่งตั้ง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  ข้าราชการทั้งหมดของรัฐ  และถอดถอนบุคคลเหล่านี้ได้ด้วยเมื่อจำเป็น
๑๑.องค์อธิปัตย์ มีอำนาจในการลงโทษบุคคลที่ละเมิดกฎหมาย  หรือผู้ที่กระทำการต่อต้านสาธารณประโยชน์หรือประเทศชาติ
๑๒.องค์อธิปัตย์ มีสิทธิในการให้รางวัลด้วยทรัพย์สินหรือเกียรติยศ  ต่อผู้ที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ  มีสิทธิในการให้ต่อบุคคลแต่ละบุคคลในแง่ยศศักดิ์และฐานันดรที่เหมาะสมสมควร  และมีสิทธิสั่งการว่าพลเมืองควรให้ความเคารพนับถือต่อบุคคลใดมากน้อยแค่ไหน
ลักษณะ ๑๒  ประการนี้  เป็นลักษณะแก่นสารของการเป็นอธิปัตย์  ซึ่งไม่อาจจะถูกยกเลิกหรืองดเว้นไปในลักษณะหนึ่ง  ลักษณะใด  โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการเป็นอธิปไตย  ถ้าในรัฐ  ๆ  หนึ่งมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด  ใช้อำนาจ  ๑๒  ประการนี้แล้ว  บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น ๆ ย่อมเป็นองค์อธิปัตย์ของรัฐนั้น  ลักษณะทั้ง  ๑๒  ประการนี้  แบ่งแยกจากกันไม่ได้  การโอนข้อหนึ่งข้อใดไป  จะหมายถึง การสูญเสียอธิปไตย  ดังนั้น  ถ้าปรากฏว่า  องค์อธิปัตย์ได้ให้สิทธิบางอย่างนี้ไปต่อผู้ใด  การโอนนั้นเป็นโมฆะ  ทั้งนี้  เพราะตราบใดที่องค์อธิปัตย์ยังเป็นอธิปัตย์อยู่  เขาไม่อาจจะสูญเสียสิทธิหนึ่งสิทธิใดใน  ๑๒  ประการที่แบ่งแยกไม่ได้นี้
๒.๕.ขีดจำกัดที่ประชาชนจะเชื่อฟังองค์อธิปัตย์
ฮอบส์  เห็นว่า  นักปราชญ์ชาวกรีกและโรมัน  อย่างอริสโตเติลหรือซิเซโร  ได้ทิ้งอิทธิพลที่ไม่ดีเอาไว้ในปรัชญาการเมือง  โดยการยกย่องคำว่า “เสรีภาพ”  จนเลิศลอย  และมักผูกพัน “เสรีภาพ”  ให้ไปกับระบอบประชาธิปไตย  อิทธิพลนี้ มักนำไปสู่ความพยายามที่จะจำกัดหรือควบคุมปฏิบัติการของกษัตริย์  ซึ่งนำไปสู่การระส่ำระสายของบ้านเมือง
ฮอบส์  เห็นว่า  เสรีภาพที่แท้จริงของราษฎร  หรือขีดจำกัดที่ราษฎรจะเชื่อฟังองค์อธิปัตย์นั้น  แฝงอยู่แล้วในสัญญาประชาคม  เสรีภาพเหล่านี้  ได้แก่
๑.สิทธิและเสรีภาพที่ไม่อาจจะโอนไปได้  เช่น  สิทธิในการป้องกันตัวเองต่อการถูกโจมตี  ประทุษร้าย  และสิทธิในการปฏิเสธการให้การในศาลที่จะผูกมัดตัวเองในระหว่างการพิจารณาคดี
๒.สิทธิในการงดเว้นจากการเสียสละชีวิตตัวเอง  หรือสังหารบุคคลอื่น  ซึ่งนำไปสู่สิทธิในการปฏิเสธปฏิบัติการที่ตัวเองต้องตายไปด้วยในการทหาร  หรือการอื่น ๆ รวมทั้งการปฏิเสธที่จะทำสงคราม
สิทธิบางอย่างนั้น  อาจจะเพิ่มให้  เช่น  สิทธิในการฟ้องร้ององค์อธิปัตย์ หรือรัฐบาลในทางแพ่ง  ในเรื่องบางอย่าง  เช่น  หนี้สิน  ภาษี  ฯลฯ  แล้วแต่กฎหมายจะกำหนดให้  ส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่องค์อธิปัตย์ยินยอมให้ราษฎรฟ้องร้องได้  มักจะเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวบทกฎหมาย  องค์อธิปัตย์ยินยอมให้ราษฎรฟ้องร้องได้  เพื่อปิดช่องว่างระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่  และเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ขององค์อธิปัตย์เอง
ในกรณีที่เกิดสภาวะอนาธิปไตย  และองค์อธิปัตย์ได้สูญเสียอำนาจในการคุ้มครองราษฎรไปแล้ว  ภาระกิจและหน้าที่ของราษฎรต่อองค์อธิปัตย์ก็สิ้นสุดลง  สถานการณ์เช่นนี้  อาจเกิดจากการรุกรานจากต่างประเทศหรือสงครามกลางเมือง  ซึ่งผลักดันบ้านเมืองให้กลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติ  ในกรณีดังกล่าว  ราษฎรย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมในการโอนความจงรักภักดีของเขา  ต่อผู้ยกตนขึ้นมาเป็นองค์อธิปัตย์องค์ใหม่  ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีอำนาจพอที่จะให้การคุ้มครองแก่ราษฎรได้
๒.๖.อิทธิพลของทฤษฎีของฮอบส์ในยุคปัจจุบัน
ทฤษฎีของฮอบส์  ที่สร้างขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่  ๑๗  และได้ถูกโจมตีตลอดมา  เกี่ยวกับข้อเสนอของฮอบส์ในแง่ของการมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์และเด็ดขาด  การมองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ลบ  ว่าหมกมุ่นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง  และคิดแต่จะเอาตัวรอด  รวมทั้งการยึดถือตัวบุคคลในการปกครอง  ว่าสำคัญกว่าหลักเกณฑ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ  นักทฤษฎีการเมืองรุ่นหลังที่มีชื่อเสียง  เช่น  จอห์น  ล็อค  ซึ่งยืนหยัดอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยกับการเชื่อในอธิปไตยในขีดจำกัดในทฤษฎีของการแบ่งแยกอำนาจ  และตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ได้รับยกย่องและประสบความสำเร็จมากกว่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในสหรัฐฯ  ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ  และวางรูปแบบสถาบันการเมืองตามคตินิยมของ  ล็อค  โดยยกกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นอธิปัตย์  ไม่มีใครอยู่เหนือใคร  และมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันหมด  ภายใต้กฎหมาย
อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันมีนักรัฐศาสตร์หลายท่านที่ทำการวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับชีวิตการเมืองในสหรัฐฯ    พบว่า  พลเมืองในสหรัฐฯ ก็ยังในสภาวะกึ่งธรรมชาติ  โดยทุกคนยืนกรานว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครยอมใคร  ทุกคนแสวงหาวิถีชีวิตที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสม  และท้ายที่สุด  ทำให้ชีวิตของคนอเมริกัน  แม้ว่าจะไม่แร้นแค้น  แต่ก็โดดเดี่ยวและอันตรายจากสถิติอาชญากรรมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในปัจจุบัน  จึงมีนักกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายกลุ่ม  หันกลับไปหาข้อเสนอของ ฮอบส์ ที่ว่า  การมีอธิปัตย์ที่มีอำนาจมากขึ้น  อาจจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น  เช่น  ข้อเสนอให้เพิ่มวาระสมัยของประธานาธิบดี  เป็นวาระละ  ๗  ปี  และให้ประธานาธิบดีแต่ละคนดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียว  เพื่อให้ประธานาธิบดีได้อุทิศตัวเองให้กับงานส่วนรวมได้เต็มที่ยิ่งขึ้น  โดยไม่ต้องมีพะวักพะวนกับการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งต่อในวาระที่ ๒  ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ใกล้เคียง  แม้ว่าจะไม่รุนแรงและเด็ดขาดเท่ากับวิธีการที่ ฮอบส์ เสนอในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างมนุษย์  และในการสร้างประชาคมการเมืองที่มั่นคงสันติให้ความสุขและเสรีภาพส่วนบุคคลแก่ประชาชนตามควรแก่อัตภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น