ลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตย
๑.ชีวิตและผลงานของ จอห์น ล็อค
จอห์น ล็อค (John Locke) เกิดวันที่
๒๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๖๓๒
บิดาเป็นนักกฎหมาย และเป็นหนึ่งในพวกพิวริตัน
เคยเป็นนายทหารอยู่ในกองทัพของรัฐสภาที่ต่อสู้กับพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ เมื่อ ล็อค อายุได้ ๑๕
ปี เข้าเรียนที่
โรงเรียนเวสท์มินส์เตอร์ (Westminster) ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วนิยมกษัตริย์ตลอดมา ปี ค.ศ.๑๖๕๒
เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
(Oxford)
ซึ่งมีธรรมเนียมที่นิยมกษัตริย์เช่นกัน
จึงกล่าวได้ว่า ล็อค ได้รับการศึกษาในบรรยากาศที่จัดพื้นฐานการอบรมทางครอบครัว และการได้รับการศึกษาเช่นนี้
มีอิทธิพลต่อทัศนคติทางการเมืองของ ล็อค
ในระยะแรก ๆ ฉะนั้น ในวัยหนุ่มนั้น ล็อค
สนับสนุนการที่องค์อธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาด โดยเห็นว่า
เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของสังคม
กระนั้นก็ดี ล็อค ถือว่า อำนาจนี้ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจ แต่ต้องเป็นอำนาจที่เป็นไปตามกฎหมาย ความคิดเช่นนี้ คล้ายคลึงกับความคิดของ ฮอบส์ แต่เป็นความคิดที่ ล็อค มิได้ยึดถือตลอดไป
ดังจะได้เห็นในภายหลัง
ในปี ค.ศ.๑๖๖๖
ล็อค ได้พบกับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา คือ
แอนโธนี่ คูเปอร์ (Anthony
Cooper)
ซึ่งในภายหลังได้เป็น เอิร์ล แห่ง แชฟต์เบอรี่ (Earl
of Shaftesbury) แชฟต์เบอรี่
เป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ
มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น
เป็นคนที่ร่ำรวยและมีอำนาจทางการเมืองสูง
แต่ไม่อยู่กับร่องกับรอย
บางครั้งก็ภักดีต่อกษัตริย์
บางครั้งก็เปลี่ยนมาเข้ากับฝ่ายรัฐสภา
แชฟต์เบอรี่ มักจะมาปรึกษาและสนทนากับ ล็อค เสมอ
และได้มอบตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญพอสมควรให้ การได้สนทนากับแชฟต์เบอรี่
มีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อ ล็อค เขาเริ่มผลิตงานเขียนทางการเมืองที่เกี่ยวกับขันตธรรม สังคมการเมือง
และรัฐบาล
ได้มีการตีพิมพ์ในภายหลัง
ซึ่งเป็นหนังสือทฤษฎีการเมืองที่คลาสสิกและสำคัญที่สุดของ ล็อค ได้แก่
ความเรียงสองตอนเรื่องรัฐบาล (Two
Theatises of Government)
การได้สนทนากับแชฟต์เบอรี่ มีผลทำให้ ล็อค
เปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองไปจากที่เคยยึดถือในวัยหนุ่ม
แทนที่จะสนับสนุนอำนาจเด็ดขาดขององค์อธิปัตย์ กลับหันมาเน้นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งจำกัดอำนาจขององค์อธิปัตย์ไว้ และเสนอความคิดว่า อำนาจที่ชอบธรรมจะต้องมีพื้นฐานมาจากความยินยอมของประชาชน นอกจาก ล็อค
จะได้สนทนากับแชฟต์เบอรี่ในทางการเมองแล้ว
ยังได้สนทนากันในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
เช่น เรื่องเกี่ยวกับศาสนาและทฤษฎีความรู้ ผลงานทางปรัชญาที่มีชื่อเสียง ได้แก่
ความเรียงเกี่ยวกับความเข้าใจของมนุษย์
(Essay Concerning
Human Understanding)
ในปี ค.ศ.๑๖๘๔ พระเจ้าชาร์ล ที่ ๒ ออกคำสั่งไล่ ล็อค ออกจากตำแหน่งอาจารย์
ที่ออกซ์ฟอร์ด และ ล็อค
ก็ต้องเนรเทศตัวเองไปฮอลแลนด์
เพราะมีชื่ออยู่ในข่ายต้องสงสัยในการการเตรียมการเพื่อก่อการปฏิวัติ ในปี
ค.ศ.๑๖๘๘ วิลเลี่ยม แห่งออเรนจ์
ได้รับเชิญให้มาเป็นกษัตริย์อังกฤษ
ล็อค
ก็เดินทางกลับอังกฤษเช่นเดียวกัน
ผลงานของ ล็อค ได้รับการตีพิมพ์
ทำให้ ล็อค มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทั้งอังกฤษและยุโรป หลังจากนั้น
ล็อค ก็ดำรงชีวิตอย่างเรียบ ๆ ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองอีก เขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว ล็อค สิ้นชีวิตลง เมื่อปี ค.ศ.๑๗๐๔
๒.ปรัชญาการเมืองของ
จอห์น ล็อค
๒.๑.มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติและกฎธรรมชาติ
ล็อค เชื่อว่า
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติย่อมมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ และมีความเสมอภาคกัน ที่ว่ามีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ หมายความว่า
มนุษย์แต่ละคนมีเสรีภาพในการที่จะกระทำอะไรก็ได้ รวมทั้งในการที่จะจัดการกับทรัพย์สมบัติ
และกับตัวของเขาเองอย่างไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร ภายในขอบเขตของกฎธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นอยู่กับหรือเป็นทาสของเจตจำนงของผู้อื่น แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพนี้ไม่ใช่การทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ทำภายในกรอบของกฎเกณฑ์
เหตุผลสนับสนุนความเชื่อของ
ล็อค อยู่กับการปฏิเสธทฤษฎีเทวสิทธิ์ กล่าวคือ
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ น่าจะมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์
เพราะไม่ถูกจำกัดโดยกฎระเบียบของสังคมการเมือง แต่การคิดเช่นนี้ จะมีเหตุผลน่าเชื่อได้ ก็ต่อเมื่อทฤษฎีเทวสิทธิ์ไม่เป็นความจริง
กฎธรรมชาติ ตามทรรศนะของ ล็อค มีดังนี้
กฎข้อที่หนึ่ง
มนุษย์ต้องไม่ทำลายชีวิตของตนเองหรือของผู้อื่น ล็อค
อ้างว่า เหตุผลของเราเข้าใจได้ว่านี่เป็นกฎธรรมชาติข้อหนึ่ง ก็เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้ว
ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา เป็นสมบัติหรือผลผลิตของพระเจ้า ไม่ใช่ของเล่นที่เราเป็นเจ้าของ และที่เราจะใช้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เราก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลายชีวิต อีกประการหนึ่ง พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือชีวิตของผู้อื่นได้
พระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์แต่ละคนขึ้นมาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความพอใจของผู้อื่น หรือเพื่อเป็นเครื่องมือของผู้อื่น ดังนั้น
มนุษย์ไม่ควรทำลายชีวิตผู้อื่น
ยกเว้นในกรณีที่เป็นการป้องกันชีวิตของตนเองเท่านั้น
กฎข้อที่สอง กล่าวคือ
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะลงโทษผู้ละเมิดกฎธรรมชาติข้อแรกซึ่งห้ามการทำลายชีวิต เห็นได้ชัดว่า
กฎนี้เป็นกฎธรรมชาติ
เพราะกฎธรรมชาติก็เช่นเดียวกับกฎหมายของบ้านเมือง นั่นคือ
ต้องมีผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย
มิฉะนั้น กฎหมายก็จะไร้ประโยชน์ เนื่องจากมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าใคร
สิทธิที่จะใช้อำนาจลงโทษนี้ย่อมเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนมีโดยเท่าเทียมกัน กฎธรรมชาติข้อที่สองนี้ นำไปสู่ผล
ก็คือ
แต่ละคนมีสิทธิที่จะทำร้ายหรือทำลายชีวิตผู้ที่คุกคามชีวิตของตนเพื่อเป็นการลงโทษได้ ฟังดูแล้ว จะขัดกับกฎข้อที่หนึ่ง ที่ห้ามการทำลายชีวิต แต่
ล็อค อธิบายว่า การที่คน ๆ หนึ่งละเมิดกฎธรรมชาติข้อแรก ก็ต้องถือว่าคนผู้นั้นไม่ใช้หลักเหตุผล ใช้กฎอื่นที่ไม่ใช่กฎของพระเจ้า บุคคลผู้นั้นย่อมเป็นอันตรายต่อมวลมนุษย์ หมดความเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์
เปรียบเสมือนสัตว์ร้ายที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์สมควรที่จะถูกทำลาย ดังนั้น
กฎข้อที่สองไม่ขัดกับข้อแรกในแง่นี้
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ นอกจากจะมีสิทธิต่าง ๆ แล้ว ยังมีสิทธิที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่
สิทธิในทรัพย์สิน ล็อค ให้ความสำคัญกับสิทธิชนิดนี้มากที่สุด
๒.๒.สิทธิในทรัพย์สิน
ในสังคมการเมืองที่ให้ความเป็นธรรม รัฐบาลจะต้องปกป้องทรัพย์สินของประชาชน และจะต้องเคารพสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน นั่นคือ
รัฐบาลจะใช้อำนาจยึดทรัพย์สินของประชาชนชนตามใจชอบไม่ได้ เหตุผลของ ล็อค คือ สิทธินี้เป็นสิทธิที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่พระเจ้าวางไว้ รัฐซึ่งควรต้องเคารพกฎธรรมชาติ จึงต้องเคารพสิทธินี้ด้วย กล่าวคือ
สิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เพราะรัฐเป็นผู้กำหนด แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐหรือไม่ รัฐจึงจะเพิกถอนสิทธินี้ตามอำเภอใจไม่ได้
ในเมื่อมนุษย์มีสิทธิในชีวิตของตน กล่าวคือ
มีสิทธิที่จะรักษาชีวิตของตนไว้
ก็ต้องมีสิทธิในปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของตนด้วย
ถึงแม้เราจะเข้าใจเอาว่าพระเจ้าทรงประทานโลกทั้งหมดให้มนุษย์ทุกคนได้ใช้ในการดำรงชีวิต ก็ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของโลกร่วมกัน ไม่มีใครมีสิทธิส่วนตัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ล็อค อ้างว่า ก่อนที่ทุกคนจะใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์กันตนได้
ก็ต้องเข้าครอบครองสิ่งที่ตนต้องใช้เสียก่อน แต่การครอบครองเพียงอย่างเดียว ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นเจ้าของ
สิ่งใดเล่าที่ทำให้การครอบครองสิ่งหนึ่งกลายเป็นการมีสิทธิเป็นเจ้าของในสิ่งนั้นได้ สิ่งนั้น
คือ แรงงาน นั่นเอง
เมื่อมนุษย์แต่ละคนมีสิทธิในชีวิตและร่างกายของตน
ก็ย่อมมีสิทธิในแรงงานและผลิตผลของแรงงานนั้นด้วย แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเรา เมื่อเรามีสิทธิในชีวิตก็ย่อมมีสิทธิในแรงงานนั้นด้วย ฉะนั้น
ผู้ใช้แรงงานย่อมมีสิทธิในผลิตผลของแรงงานนั้นด้วย ล็อค อ้างเหตุผล ดังนี้
“สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์แปรสภาพไปจากสภาพเดิมที่ธรรมชาติสร้างไว้ หรือทิ้งเอาไว้ มนุษย์ได้ผสม
(mixed) แรงงานของตนลงไป และเชื่อม (joined)
บางสิ่งที่เป็นของตนเข้ากับสิ่งนั้น
และดังนั้น ทำให้สิ่งนั้นเป็นทรัพย์สินของตน”
๒.๓.กำเนิดของสังคมการเมือง
สำหรับ ล็อค
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติอยู่ในสภาพที่มีกฎทางจริยธรรมควบคุมอยู่ สิทธิเสรีภาพที่มี ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ ถึงกระนั้นก็ตาม
แม้มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติจะมีกฎทางจริยธรรมวางระเบียบความประพฤติไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่า
สภาวะนี้จะเป็นสภาวะที่สงบสุข
เพราะมนุษย์อาจจะไม่ใช้เหตุผลที่มีอยู่ในการเข้าใจกฎทางจริยธรรม และอาจจะดำเนินชีวิตโดยไม่คำนึงถึงกฎเหล่านี้ก็ได้ ขณะเดียวกัน
ล็อค ก็เชื่อว่า
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ ดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุผล เดินตามกฎทางจริยธรรม
ถึงแม้สภาวะธรรมชาติเป็นสภาวะที่สงบสุขก็จริง แต่ก็มีความไม่สะดวกอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ
ในสภาวะนี้ไม่มีอำนาจส่วนกลางที่จะตัดสินความเป็นธรรมและยุติความขัดแย้งในหมู่มนุษย์
มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะป้องกันตัวเองและตัดสินความเป็นธรรม แต่มนุษย์มักจะมีอคติ และมีความรักตัวเอง การใช้ตัวเองตัดสินความเป็นธรรม
จึงมักนำไปสู่ความขัดแย้งและความวุ่นวายไร้ระเบียบ
ดังนั้น เหตุผลที่มนุษย์สร้างระบบสังคมการเมืองขึ้นมา
ก็เพราะสภาวะธรรมชาติถึงแม้จะไม่ใช่สภาวะสงคราม แต่ก็มีความไม่สะดวกอย่างมาก และอาจจะนำไปสู่สภาวะสงครามได้ เป็นสภาพที่ชีวิตและเสรีภาพ
ตลอดจนทรัพย์สินของแต่ละคนขาดความมั่นคงและความปลอดภัย ถูกคุกคามจากผู้อื่นเสมอ เป็นสภาพที่แต่ละคนมีความกลัวภยันตรายรอบข้างซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา มนุษย์แต่ละคนไม่อาจปกป้องรักษาชีวิต
เสรีภาพและทรัพย์สินของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงละทิ้งสภาวะธรรมชาติมาอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองซึ่งสามารถปกป้องชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของแต่ละคนได้ดีกว่า
การที่แต่ละคนมอบอำนาจที่ตนมี ให้กับชุมชนใช้อำนาจแทนตน หมายความว่า
มนุษย์แต่ละคนซึ่งเคยมีเสรีภาพตามธรรมชาติได้สละเสรีภาพของตน และยอมอยู่ภายใต้อำนาจส่วนกลาง
การที่มนุษย์ซึ่งมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้อื่นย่อมเป็นไปได้ทางเดียว ก็คือ
มนุษย์แต่ละคนให้ความยินยอม (consent) ที่จะสละเสรีภาพของตน ในเมื่ออำนาจส่วนกลางจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลทั้งหมดยินยอมสละอำนาจและเสรีภาพของตน
สังคมการเมืองจึงมีกำเนิดจากการที่มนุษย์ทุกคนตกลงร่วมมือกันเป็นชุมชน และมอบอำนาจให้กับส่วนกลาง ข้อตกลงระหว่างมนุษย์นี้ ล็อค
เรียกว่า ปฐมสัญญา (original compact) หรือเป็นที่รู้จักในภายหลังต่อมาว่า สัญญาประชาคม
(social contract)
๒.๔.รูปแบบของรัฐ
ในเมื่อสังคมการเมืองเกิดขึ้น จากการที่มนุษย์แต่ละคนมอบอำนาจที่ตนมีให้กับชุมชน เพื่อก่อให้เกิดอำนาจส่วนกลาง ปัญหา ก็คือ
ความยินยอมนี้มีส่วนกำหนดรูปแบบของรัฐหรือตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐหรือไม่ อย่างไร
สำหรับ ล็อค การสละอำนาจด้วยความยินยอมนี้
มีส่วนในการกำหนดรูปแบบของรัฐด้วย
เพราะในการสละอำนาจของแต่ละคนจะต้องสละให้กับผู้ใดผู้หนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
จึงเกิดปัญหาว่าใครจะเป็นผู้รับมอบอำนาจนี้ การมอบอำนาจนี้มอบให้กับชุมชน
และชุมชนจะต้องเป็นผู้กำหนดตัวผู้รับมอบอำนาจอีกทีหนึ่ง
ชุมชนกำหนดตัวผู้รับมอบอำนาจโดยใช้วิธีเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร สมาชิกแต่ละคนในชุมชนนั้น จะต้องยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ ยอมรับพันธะที่จะทำตามเสียงส่วนใหญ่ ล็อค ให้เหตุผล ดังนี้
“ในเมื่อสิ่งซึ่งจะทำให้ชุมชนมีการกระทำร่วมกันได้ ก็คือ
ความยินยอมของแต่ละบุคคลในชุมชนนั้น
และในเมื่อมวลสารจำเป็นต้องเคลื่อนที่ไปทางใดทางหนึ่ง จึงจำเป็นที่ว่า มวลชนซึ่งเปรียบได้กับมวลสาร ย่อมเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่แรงส่วนใหญ่นำไป ในกรณีนี้
แรงส่วนใหญ่ ได้แก่ ความยินยอมของคนส่วนใหญ่ มิฉะนั้น
ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชุมชนนั้นจะกระทำการใด
หรือดำรงความเป็นหนึ่งเดียวเป็นชุมชนเดียวได้ ทั้ง ๆ ที่ความยินยอมของทุก ๆ
คนที่รวมกันเป็นชุมชนเห็นพ้องกันว่า
ชุมชนควรมีการกระทำเป็นหนึ่งเดียวกัน
และดังนั้น ทุก ๆ คน
จึงอยู่ภายใต้พันธะที่จะให้เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสิน อันเป็นผลมาจากความยินยอมดังกล่าว”
ล็อค
ไม่ได้กำหนดลงไปว่า
สังคมการเมืองที่ชอบธรรมจะต้องมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งตายตัวลงไป สำหรับ ล็อค รูปแบบของสังคมการเมืองจะเป็นไปอย่างไรไม่สำคัญ
ขอแต่เพียงให้มติของเสียงส่วนใหญ่เป็นสิ่งกำหนดเท่านั้น
๒.๕.การขัดขืนอำนาจรัฐ
นอกจากสิทธิในทรัพย์สินแล้ว
ยังมีสิทธิอีกชนิดหนึ่งที่ ล็อค ให้ความสำคัญอย่างมาก ได้แก่
สิทธิในการปฏิวัติหรือในการขัดขืนอำนาจรัฐ
ปัญหาในเรื่อง สิทธิการปฏิวัติ
คือ สิทธินี้เป็นสิทธิของใคร
ถ้าเป็นสิทธิที่แต่ละคนมีเกิดปัญหาว่าในเมื่อทุกคนมอบอำนาจให้รัฐเป็นผู้ใช้แทนไปแล้ว ก็หมายความว่า
อำนาจไปรวมอยู่ที่รัฐ
ถ้ารัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ
มนุษย์แต่ละคนย่อมมีสิทธิทำการปฏิวัติได้ก็จริง แต่ว่า แต่ละคนมีอำนาจที่จะทำการปฏิวัติน้อยนิดเดียว ย่อมกระทำการโดยลำพังไม่ได้
จะใช้อำนาจขัดขืนรัฐได้ก็ต่อเมื่อร่วมมือกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้น
การใช้สิทธิในการปฏิวัติจะเป็นไปได้
ก็ต่อเมื่อมีชุมชนต่างหากจากรัฐบาล
เป็นชุมชนที่สามารถมีการกระทำร่วมกัน
สามารถขัดขืนอำนาจรัฐได้
ด้วยเหตุนี้ ล็อค จึงเน้นว่า
สังคมหรือชุมชนไม่ใช่สิ่งเดียวกับรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลสลายตัวไป สังคมยังคงมีอยู่และสามารถมีการกระทำร่วมกัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่
การปฏิวัติหรือการขัดขืนอำนาจรัฐ จะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้อำนาจรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ ล็อค
ยกเหตุผลหลักว่า
รัฐบาลเป็นเสมือนผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนมอบอำนาจให้รัฐเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น แทนในการปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของปวงชน เปรียบเสมือนกับว่า
รัฐได้รับการมอบหมายจากประชาชนให้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของตน เมื่อใดก็ตามที่รัฐทำหน้าที่นี้บกพร่อง
หรือทำเกินขอบเขตหน้าที่ของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อรัฐใช้อำนาจที่ตนมีหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง และทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์
เมื่อนั้นก็ถือได้ว่ารัฐได้หมดสิทธิและอำนาจที่ตนได้ไปโดยปริยาย อำนาจและสิทธิก็จะกลับคืนมาสู่ปวงชน และนั่นก็หมายความว่า สังคมการเมืองได้สลายตัวไปเอง มนุษย์กลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติ และมีสิทธิที่จะเลือกผู้ดูแลผลประโยชน์คนใหม่
ปัญหาสุดท้าย ก็คือ
ใครจะเป็นผู้นัดสินว่ารัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของความเป็นธรรม และสมควรมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือการปฏิวัติ ล็อค ให้คำตอบว่า ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยอ้างเหตุผลว่า
ในเมื่อประชาชนมอบความไว้วางใจให้รัฐบาลเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของตน
ประชาชนซึ่งเปรียบเสมือนผู้แต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์
จะต้องเป็นผู้ตัดสินว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของตนหรือไม่ กล่าวคือ
ผลประโยชน์เป็นของใคร
เจ้าของผลประโยชน์ต้องเป็นผู้ตัดสิน
ล็อค อ้างเหตุผล โดยเปรียบเทียบกับเรื่องส่วนบุคคล ว่า
“ปวงชนจะต้องเป็นผู้ตัดสิน เพราะใครเล่าจะเป็นผู้ตัดสินว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของตน หรือผู้แทนของตนทำงานดีหรือไม่ และทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไปหรือเปล่า
ถ้าไม่ใช่ตัวคนที่เป็นผู้มอบความไว้วางใจเอง
ผู้ซึ่งในฐานะดังกล่าวจะต้องยังคงมีอำนาจที่จะปลดผู้ดูแลผลประโยชน์ของตน ในกรณีที่ผู้นั้นไม่ทำตามหน้าที่ ถ้าที่กล่าวมานี้ มีเหตุผลน่าเชื่อในกรณีส่วนบุคคล ทำไมจึงจะไม่มีเหตุผลน่าเชื่อในกรณีที่สำคัญที่สุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของคนนับล้าน
และเป็นกรณีที่ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นใหญ่หลวงกว่า ถ้าไม่ได้มีการป้องกันเอาไว้ และการแก้ไขยากลำบากเหลือ สิ้นเปลือง
และเป็นอันตราย”
ทรรศนะของ ล็อค ที่ว่า ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่
และเป็ผู้มีสิทธิที่จะทำการปฏิวัติมีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะหมายความว่า
ในที่สุดแล้วอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ปวงชน
ถึงแม้รัฐบาลจะได้รับมอบอำนาจจากประชาชน
ให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม
แต่อำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของรัฐบาล
อยู่ที่ปวงชน ทรรศนะเช่นนี้ เป็นแก่นความคิดแบบประชาธิปไตย และเป็นความคิดที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการของประชาธิปไตยในโลกตะวันตก
จากบทความนี้ การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เดินหน้าถูกทาง แต่ถ้า กปปส.ต้องการให้รัฐบาลรักษาการลาออกและสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ ต้องใช้มติเสียงส่วนใหญ่จากประชามติปวงชน (ทั้งประเทศ)
ตอบลบ