วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โปรแทกอรัส (Protagoras)


เกิด พ.ศ.63-133 ที่เมืองอับเดรา (Abdera) ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับเดมอคริตุสเช่นกัน ปรัชญาของท่านจัดอยู่ในประเภทญาณวิทยา หรือทฤษฎีความรู้ ท่านกล่าวว่า เมื่อมีความเห็นในเรื่องใดแตกแยกออกเป็นหลายอย่าง การตัดสินใครถูกใครผิด ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินเท่าเทียมกัน โปรแทกอรัสกล่าวว่า “คนเป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง” อะไรจริงอะไรเท็จขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน ใครว่าอะไรจริงก็จริงสำหรับเขาผู้นั้น คนอื่นไม่อาจคัดค้านได้ เมื่อธาเรสกล่าวว่า น้ำเป็นปฐมธาตุของโลก นั่นก็ถูกตามทัศนะของธาเรส ครั้นเฮราคลีตุสกล่าวว่า ไฟเป็นปฐมธาตุ นั่นก็ถูกตามทัศนะของเฮราคลีตุส การตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ตามทัศนะขิงโปรแทกอรัส ความเห็นของทุกคนถูกทั้งหมด เพราะคนแต่ละคนเป็นมาตรการตัดสินความจริงเสมอกัน ความจริงสำหรับโปรแทกอรัสจึงเป็นอันเดียวกับ“ทัศนะอัตนัย” (Subjective Opinion) หรือความเห็นเฉพาะบุคคล ท่านไม่แยกทัศนะอัตนัยออกจากความจริง “ความจริงแบบปรนัย” (Objective Truth)


คำว่า “ทัศนะอัตนัย”(Subjective Opinion) และ “ความจริงแบบปรนัย” (Objective truth) ต้องทำความเข้าใจทั้งสองประการนี้ให้ถูกต้องก่อน สมมติว่า ข้าพเจ้าสงสัยว่า “โลกนี้กลมหรือแบน” ในความสงสัยนี้ มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน คือ (1) ข้าพเจ้า หรือ จิต ผู้คิดสงสัย (2) โลก หรือ วัตถุ ที่ถูกคิด

วิธีแรก เป็นแบบอัตนัยคือให้ข้อพิสูจน์จากฝ่ายผู้คิด ข้าพเจ้าตอบตัวเองว่า โลกแบน เพราะสายตาบอกข้าพเจ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้ามองไปเบื้องหน้า ข้าพเจ้าเห็นแต่ที่ราบยาวไปจรดขอบฟ้า ดังนั้นข้าพเจ้าต้องสรุปว่า โลกแบนเพราะ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันแบน ความรู้ที่ได้จากการพิสูจน์จากฝ่ายผู้คิดนี้เป็นทัศนะอัตนัย หรือความเห็นส่วนตัว ทัศนะของข้าพเจ้าอาจต่างจากทัศนะของคนอื่น ทัศนะของข้าพเจ้าก็ถูกเพราะมันเป็นความจริงในทัศนะของข้าพเจ้า

วิธีที่สอง เป็นแบบปรนัย คือ ให้ข้อพิสูจน์จากฝ่ายวัตถุ ข้าพเจ้าอาจขอร้องให้นักวิทยาศาสตร์ส่งดาวเทียมขึ้นไปถ่ายภาพของโลก ปรากฏว่า โลกที่ปรากฏในภาพมีรูปทรงกลม ข้าพเจ้าเชื่อตามภาพนั้น ดังนั้นข้าพเจ้าต้องสรุปว่า โลกกลมโดยอาศัยหลักฐานจากโลกหรือวัตถุที่คิด ใครจะคิดว่าโลกแบนก็คิดไป แต่โลกในความเป็นจริงเป็นโลกกลม ความรู้ที่เกิดจากการอ้างหลักฐานจากวัตถุตามมที่เป็นจริงอย่างนี้ เป็นความรู้แบบปรนัย ความจริงที่ได้เป็นความจริงแบบปรนัยที่ไม่เกี่ยวกับทัศนะส่วนตัวของใคร

สำหรับโปรแทกอรัส ความรู้เป็นทัศนะอัตนัยที่แตกต่างไปตามรายบุคคล ท่านไม่ยอมรับว่า มีความจริงแบบปรนัย ท่านว่าทัศนะของแต่ละคนถูกด้วยกันทั้งคู่ ที่ว่าถูกคือถูกตามทัศนะของคนทั้งสอง ไม่มีทัศนะของใครเป็นจริงยิ่งกว่าทัศนะของคนอื่น เช่น อีกคนบอกว่า ผีมีจริง แต่อีกคนบอก ผีไม่มีจริง ย่อมเป็นความจริงตามทัศนะของทั้งคู่ อีกอย่างสำหรับคนที่เป็นโรคต่าง ๆ กับคนที่ไม่เป็นโรคนั้น โปรแทกอรัสให้ทัศนะว่าคนมีสูขภาพแข็งแรงดีกว่าการเจ็บไข้ ภาพของคนปกติย่อมดีกว่าคนวิกลจริต ทัศนะแรกจึงดีกว่าทัศนะหลัง แนวความคิดของท่านใกล้เคียงกับปรัชญาสำนักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ที่ถือเอาการปฏิบัติเป็นมาตรการตัดสินความจริง และไม่แปลกที่ชิลเลอร์ (F. schiller พ.ศ. 2407-2480 ) ผู้ก่อตั้งสำนักปฏิบัตินิยมแบบมนุษย์ธรรม และได้ประกาศตัวเป็นศิษย์ของโปรแทกอรัส

ในส่วนทฤษฎีความรู้ด้านจริยศาสตร์ ท่านปฏิเสธความดีในตัวเอง หรือความดีอันเป็นที่ยอมรับของคนในทุกสังคม ทานเห็นว่าความดีเป็นเรื่องที่คนแต่ละคนกำหนดค่าให้ อะไรที่ว่าดี ก็เพราะมีคนไปกำหนดค่าว่าดี จึงเป็นไปได้ที่ความดีในสังคมหนึ่งอาจจะไม่ใช่ความดีในสังคมอื่น เช่นถ้าใคร นำลัทธิเมียคนเดียวผัวหลายคน ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมธิเบตมาใช้ในประเทศไทย ก็คงถูกตำหนิอย่างรุนแรง ความดีความชั่วในตัวเองไม่มี บทบัญญัติทางศิลธรรมและกฏหมายประเพณีเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคม นี่เป็นทัศนะของท่าน แต่ท่านก็มีความเห็นเสริมว่า ทุกคนควรเคารพประเพณี และปฏิบัติตามบัญญัติทางประเพณีและศิลธรรมเป็นสิ่งทีมีประโยชน์ เป็นทัศนะแบบนักปฏิบัตินิยม และทัศนะนี้เด่นชัดมากเมื่อมาถึงปัญหาเรื่องการบูชาเทพเจ้า ทั้งที่ท่านไม่แน่ใจว่า เทพเจ้ามีจริงหรือไม่ ท่านก็ยังสนับสนุนให้บูชาเทพเจ้า เพราะคนที่เคารพเกรงกลัวเทพเจ้า ย่อมไม่ประกอบกรรมชั่วโดยง่าย

แม้ว่าในเบื้องต้น โปรแทกอรัสจะกล่าวว่า ไม่มีมาตรการตัดสินใด ๆ เป็นเครื่องชี้ขาดว่า ทัศนะหนึ่งเป็นจริงกว่าทัศนะอื่น แต่ในตอนท้ายท่านกลับตั้งมาตรการตัดสินความจริงขึ้นมาอีก มาตรการอันนี้คือ ความมีประโยชน์ เพราท่านยอมรับว่า ทัศนะหนึ่งดีกว่าทัศนะอื่น ก็เพราะมีประโยชน์มากกว่า ดังนั้น โปรแทกอรัสจึงไม่ซื่อตรงต่อทัศนะของท่านที่ว่า “คนเป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง” ท่านได้ตั้งทาตรการซ้อนลงไปว่า “ ความมีประโยชน์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง” จึงเป็นความสับสนในปรัชญาของท่าน

สรุปปรัชญาของโปรแทกอรัสนั้น ไม่มีมาตรการใด ๆ เป็นเครื่องตัดสินความจริงและความดี การตัดสินว่าอะไรจริง อะไรดีขึ้นอยู่กับทัศนะส่วนตัวของแต่ละคน โวฟิสต์รุ่นหลัง ๆ ได้พัฒนาแนวคิดของเขาออกไป โพลุสและธราซีมาดุสกล่าวว่า ความดีและความยุติธรรมมไม่มีจริง กฏหมายเป็นเครื่องมือที่คนอ่อนแอสร้างขึ้นมาควบคุมคนแข็งแรง แท้ที่จริงกฏหมายคือ อำนาจ ใครมีอำนาจพอที่จะฝ่าฝืนกฏหมายโดยไม่ถูกลงโทษ เขาก็มีสิทธิฝ่าฝืน โซฟิสต์เป็นพวกแรกที่ตัดสินว่าอำนาจคือธรรม จะเห็นว่าแนวคิดของพวกเขาเป็นการบ่อนทำลายศาสนา ศิลธรรม และประเพณีของชาวกรีก เหตุนั้น นักปรัชญาคนสำคัญอย่างโสคราตีสและพลาโต้ จึงเผยแพร่ปรัชญาที่หักล้างแนวความคิดของพวกโซฟิสต์อย่าางหนัก คนส่วนมากเชื่อพลาโต้ และมองเห็นโซฟิสต์เป็นนักปรัชญาจอมปลอมหรือคนตลบตะแลง จนหลังปี พ.ศ. 2473 จึงมีกลุ่มนักปรัชญารณรงค์กู้ชื่อเสียงให้กับโซฟิสต์ คาร์ล ป็อปเปอร์ (Karl Popper) ยกย่องโซฟิสต์เป็น “ยุคคนที่ยิ่งใหญ่ ”(The Great Generation) แลเป็นที่ยอมรับในฐานะที่โซฟิสต์ เป็นพวกแรกที่สนใจวิชาไวยากรณ์, ศิลปการประพันธ์, ดนตรี, และเป็นผู้ริเริมการศึกษาวิชาวาทศิลป์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น