วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปาร์มีนิเดส (Parenides)


ท่านประยุกต์คำสอนของอาจารย์ (เซโนฟาเนส) โดยได้แนวความคิดจากข้อความที่ว่า”สรรพสิ่งในโลกคือพระเจ้า” และ” พระเจ้าไม่เคยเปลี่ยนแปลง” จึงนำมาสร้างหลักปรัชญาที่ว่าด้วยความเที่ยงแท้คงที่ของโลก และท่านได้เขียนหนังสือปรัชญาไว้เป็นบทกวีแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกชื่อ “วิถีแห่งความจริง”(Way of truth) ภาคสองชื่อ “วิถีแห่งความลวง” (Way of seeming)ท่านไม่เห็นด้วยกับการที่เฮราคลีตุสกล่าวว่าสรรพสิ่งในโลกมีอันต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เช่นไฟแปรรูปเป็นลม จากลมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นดิน แต่ท่านมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท่านยอมรับไม่ได้ ท่านบอกว่า การเปลี่ยนแปลงไม่มีอยู่จริง คิดดูว่าไฟแปรรูปเป็นลมได้โดยวิธีใด ในช่วงที่ไฟจะเปลี่ยนแปลงเป็นลมนั้น มีภาวการณ์อย่างไรเกิดขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าไฟดับไปก่อนแล้วลมจึงเกิดขึ้นแทนที่ หรือว่าไฟไม่ได้มอดดับหายไป แต่ทว่าได้เปลี่ยนตัวเองเป็นลมโดยอัตโนมัติ ?
ถ้าเป็นกรณีแรก คือไฟดับตัวเองไปก่อนแล้วลมจึงเกิดขึ้นแทนที่ นั่นหมายความว่า ลมเกิดมาจากความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรอยู่ก่อนเลย แต่ปาร์มีนิเดสเห็นว่า ลมจะเกิดความว่างเปล่าไม่ได้ เพราะจากความว่างเปล่าก็จะมีแต่ความว่างเปล่าตามมา ลมย่อมเกิดจากบางสิ่งบางอย่าง และในกรณีหลัง คือไฟยังไม่ดับหายไปไหน แต่ทว่าเปลี่ยนสภาพติดต่อกันไป ลมจึงจะเกิดมาจากไฟ นั่นแสดงว่าลมไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า แต่ลมเกิดจากบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้ว และสิ่งนั้นก็คือไฟ ลมจึงไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะมันเคยมีอยู่ก่อนในรูปของไฟ ดังนั้นเราจึงไม่อาจใช้คำพูดว่า “ลมเกิดมาจากไฟ” เพราะลมกับไฟโดยธาตุแท้เป็นสิ่งเดียวกัน จึงให้กำเนิดแก่กันไม่ได้ และเมื่อมันเป็นสิ่งเดียวกัน เราจะว่าสิ่งหนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกสิ่งหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกันโดยธาตุแท้ ด้วยเหตุผลนี้ ปาร์มีนิเดสกล่าวว่า ธาตุแท้หรือแก่นแท้ของสรรพสิ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ความเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงปรากฏการณ์หน้าฉากเท่านั้น แต่แก่นแท้ของโลกไม่เคยเปลี่ยนแปลง อะไรคือแก่นแท้ของโลก ? ปาร์มีนิเดสเแลยว่า ภาวะ (Being) เป็นแก่นแท้ของโลก เหตุนั้นภาวะจึงเป็นปฐมธาตุของสรรพสิ่ง ภาวะไม่เคยเปลี่ยนแปลง ภาวะไม่มีการเกิด ภาวะไม่มีการดับ เพราะมันจะต้องมีอยู่ตลอดไป ดังนั้น ภาวะจึงคงเป็นอยู่นิจนิรันดร์ เหมือนกับพระเจ้าในทัศนะของเซโนฟาเนส
โลกคือภาวะ ดังนั้นโลกจึงไม่เปลี่ยนแปลง บางคนคิดว่า โลกเปลี่ยนแปลงเพราะสิ่งทั้งหลายในโลกเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ปาร์มีนิเดสตอบว่า สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ภาวะหรือแก่นแท้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เรารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปก็โดยอาศัยประสาทสัมผัส (Senses) ทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย แต่ท่านกล่าวว่าประสาทสัมผัสให้แต่ความรู้ผิด ๆ โลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรอก ประสาทสัมผัสต่างหากลวงเราให้เห็นเป็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงในโลกเป็นเพียงภาพลวงตาหรือภาพมายาที่เกิดจากการลวงของประสาทสัมผัส บางคนอาจสงสัยว่า เราจะเข้าถึงความจริงที่ว่าโลกไม่เปลี่ยนแปลงโดยวิธีใด ? ท่านตอบว่า โดยอาศัยเหตุผล (Reason) ความจริงชนิดนี้รู้ได้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยประสาทสัมผัส และปาร์มีนิเดสเป็นนักปรัชญาคนแรกที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างประสาทสัมผัสกับเหตุผล ดังนั้นปรัชญาของปาร์มีนิเดสเป็นประเภทอภิปรัชญา เพราะมู่งแสวงหาแก่นแท้หรือความจริงสูงสุดเกี่ยวกับโลก โดยนัยนี้ ปรัชญาของท่านเป็นบ่อเกิดแห่งลัทธิจิตนิยม (Idealism) ที่เน้นความสำคัญของจิตเหนือวัตถุภายนอก ต่อมาพลาโต้ได้นำแนวคิดของท่านไปพัฒนาเป็นโลกแห่งมโนคติ (World of ideas) และถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ภาวะในทัศนะของท่านเป็นสิ่งจำกัด กินที่ มีรูปเป็นทรงกลม ทำให้เข้าใจได้ว่า ภาวะเป็นวัตถุหรือสสาร เพราะเป็นสิ่งกินที่และมีรูปร่างดังกล่าว แก่นแท้ของโลกจึงเป็นวัตถุ เมื่อมองมุมนี้ปรัชญาของท่านก็เป็นวัตถุนิยม (Materialism) ที่ถือว่าความจริงแท้ของสรรพสิ่งเป็นวัตถุหรือสสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น