วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รุสโซ (Jean – Jacqnes Rousseau 1712-1778 )


นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส เขาเห็นว่า สังคมร่วมสมัยตอนนั้นมีลักษณะขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นสังคมที่เสแสร้ง อุปโลกน์บิดเบือน และฟุ่มเฟือย แม้แต่วิทยาศาสตร์กับศิลปะก็เป็นสิ่งเสแสร้ง เพราะวิทยาศาสตร์เกิดจากความรู้สึกหยิ่งผยองในตัวเองไม่ใช่เกิดจากความรู้สึกที่แท้จริง และศิลปะก็เกิดจากความรู้สึกฟุ้งเฟ้อมากกว่าความรู้สึกที่แท้จริงเช่นกัน รุสโซจึงหันไปชื่นชมการใช้ชีวิตสมัยดึกดำบรรพ์ เพราะเป็นชีวิตที่อิสระและได้ทำตามความปราถนาของตนและมีคุณธรรมอย่างง่าย ๆ คือไม่สร้างความเจ็บปวดหรือความทุกข์ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นสังคมปัจจุบันในทัศนะของเขา จึงมองเป็นสังคมที่บิดเบือนให้เป็นความรู้สึกแข่งขันและเปรียบเทียบ และความรู้สึกสาใจ ถ้าคู่แข่งขันต้องพ่ายแพ้และประสบความย่อยยับลงไป


ในทัศนะของเขาเห็นว่า สิ่งที่มีความสำคัญคือ เสรีภาพต้องเป็นสิ่งควบคู่กับสังคม ถึงแม้ว่าเสรีภาพในทางสังคมจะแตกต่างจากเสรีภาพขณะที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพตามธรรมชาติก็ตาม แต่เสรีภาพในสังคมก็เป็นขั้นตอนของการวิวัฒนาการของมนุษย์ ดังนั้น ถ้าสังคมใดยกเลิกเสรีภาพก็เท่ากับสังคมนั้นถูกทำลายคุณสมบัติของมนุษย์โดยสิ้นเชิง เมื่อสังคมและรัฐเกิดจากเสรีภาพ และให้ความเคารพในเสรีภาพในสังคม มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับเผด็จการ ปัญหาดังกล่าวของรุสโซ คือการสร้างเจตน์จำนงร่วม (General will) ซึ่งต้องกลายมาเป็นแกนนำสังคม เป็นเจตน์จำนงที่มุ่งสู่ความดีของทุกคน มิใช่การคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะตนและเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเจตน์จำนงของคนในสังคมทั้งชาติ จะเห็นว่าตามทัศนะของรุสโซนั้นเป็นบ่อเกิดของอำนาจทางการเมือง หรือเรียกว่า อำนาจอธิปไตยอันเป็นของประชาชนทั้งหมด ดังนั้นสังคมจึงเป็นองค์กรร่วม หรือเป็นเอกภาพเพื่อคนทั้งชาติ สังคมที่ดีจึงต้องอาศัยพื้นฐานสำคัญคือศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ของสมาชิกที่มีเจตน์จำนงร่วมกันแต่เริ่มแรก จึงจะเป็นเสรีภาพและอำนาจทางอธิปไตยอย่างแท้จริง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น